14 กันยายน 2559 : นายแดน แมทธิวส์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (ซีทีโอ) บริษัท ไอเอฟเอส สะท้อนว่า ไอเอฟเอสปฏิเสธไม่ได้เลยว่าขณะนี้ตลาดอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ สำหรับภาคอุตสาหกรรม (Industrial Internet of Things: IIoT) กำลังเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จากรายงานดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ในมุมมองด้านอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (Digital Transformation – an Internet of Things perspective) ทำให้บริษัท ไอดีซี คาดการณ์ว่าจุดติดตั้งอุปกรณ์ปลายทางของไอโอที (IoT) จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 13,000 ล้านชุดในปลายปี 2559 จนถึง 30,000 ล้านชุดในปี 2563
และอุตสาหกรรมที่บริษัท ไอดีซี คาดการณ์ว่าจะมีการใช้จ่ายงบประมาณไปกับโซลูชันไอโอที (IoT) มากที่สุด คืออุตสาหกรรมด้านการผลิต การขนส่ง พลังงานและสาธารณูปโภค รวมถึงร้านค้าปลีกที่มีรูปแบบการใช้งาน ไอโอที (IoT) อย่างครอบคลุม
ขณะนี้นาฬิกา ไอโอที สำหรับอุตสาหกรรมกำลังเดินอยู่ และองค์กรธุรกิจที่ยังไม่ได้เปิดรับโอกาสที่ได้จากไอโอที จำเป็นต้องสร้างและนำแผนงานของตนไปดำเนินการโดยด่วน แล้วทำไมบางบริษัทจึงยังคงลังเลอยู่ คำตอบคือมีความเชื่อหรือความเข้าใจผิดหลายอย่างเกี่ยวกับ ไอไอโอที (IIoT) ที่ทำให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจเกิดความลังเล รวมถึงระงับและหยุดดำเนินการโครงการไอไอโอทีทั้งหมดไว้ก่อน โดยส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐาน ค่าใชจ่ายที่คาดไว้สูงเกินไป และความหวาดกลัวที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาไม่ดำเนินการโครงการ ไอไอโอที ให้สำเร็จลุล่วง ตอนนี้มาลองพิจารณาลงลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับความเชื่อเหล่านี้ดูกัน
ความเชื่อที่ 1: เราควรรอจนกว่าทุกสิ่งจะเป็นมาตรฐาน
ตลาดสำหรับผู้บริโภคจะมีการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจน เป็นทางการ หรือจากเจ้าตลาด ซึ่งต่างจาก ไอไอโอที ที่ยังไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจนและอาจยังไม่เกิดในหลายทศวรรษนี้ แต่สิ่งนี้ถือเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จ แน่นอนว่ามีแนวทางในการกำหนดมาตรฐานที่เกิดขึ้นใหม่มากมายเกี่ยวกับ ไอไอโอที และยังไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าสิ่งนั้นจะใช้การได้จริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญ จะเห็นได้ว่าตลาดสำหรับผู้บริโภคมีมาตรฐานใหม่เกิดขึ้นหลายอย่าง เช่น ชิพ เอ็นเอฟซี (NFC) ในสมาร์ทโฟน ที่กำลังพร้อมจะเปิดตัวออกสู่ตลาดในอีกไม่กี่ปีนี้ สิ่งนี้จะทำให้ผู้คนต้องเปลี่ยนโทรศัพท์ของตนแน่นอน ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมกำลังใช้งานอุปกรณ์ที่ทุกสิ่งมีอายุยาวนานหลายปีหรืออาจหลายทศวรรษแล้ว โดยอุปกรณ์ดังกล่าวได้มาจากซัพพลายเออร์นับสิบหรือนับร้อยราย
แม้ว่าผู้ผลิตอุปกรณ์ที่ “รองรับ ไอไอโอที ” (IIoT enable) รุ่นใหม่ล่าสุดจะยึดตามมาตรฐาน ไอไอโอที บางอย่าง แต่ก็อาจต้องใช้เวลาหลายทศวรรษก่อนที่อุตสาหกรรมจะตัดสินใจเปลี่ยนอุปกรณ์และสินทรัพย์ที่มีอยู่ทั้งหมดของตนไปเป็น ไอไอโอที รุ่นใหม่ที่ได้มาตรฐาน สำหรับอุตสาหกรรมที่ต้องการนำ ไอไอโอที มาปรับใช้ ก็เพียงแค่ยอมรับว่าอนาคตเป็นสิ่งที่สามารถคาดการณ์ได้ จะยังไม่มีมาตรฐานใดๆ เกี่ยวกับวิธีการเชื่อมต่อสิ่งต่างๆ ทุกสิ่งเข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์แบบ ดังนั้น อุตสาหกรรมควรคาดหวังและวางแผนเดินหน้าพัฒนาการผสานรวมการทำงานตามความต้องการเฉพาะของตน หรือแม้แต่ดำเนินการติดตั้งเซ็นเซอร์อื่นๆ และเพิ่มขีดความสามารถด้านการติดต่อสื่อสารให้กับอุปกรณ์และสินทรัพย์ที่มีอยู่เพื่อให้สามารถเชื่อมต่อระหว่างกันได้ในเบื้องต้น
ความเชื่อที่ 2: ไอไอโอที เป็นก้าวสำคัญสำหรับธุรกิจของเรา นั่นหมายถึงภาระอันหนักหน่วง
ความสำเร็จของ ไอไอโอที เกี่ยวข้องกับการเลือกขั้นตอนเพียงไม่กี่ข้อที่สามารถนำไปลงมือปฏิบัติได้จริง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจในปัจจุบันของคุณ ไม่ใช่ก้าวสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมในวันพรุ่งนี้ สำหรับหลายคนแล้ว ไอโอทีอาจทำให้นึกถึงตัวการสำคัญที่ทำให้บริษัทหลายแห่ง เช่น อูเบอร์ (Uber) หรือ เน็ต ฟลิกซ์ (Netflix) เกิดความยุ่งเหยิง แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ไอไอโอที เป็นการพัฒนามากกว่าที่จะทำให้ธุรกิจทั้งหมดเกิดความยุ่งเหยิง จากรายงานของบริษัท ไอดีซี ที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ ปัจจัยขับเคลื่อนหลักที่อยู่เบื้องหลัง ไอไอโอที คือการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในแต่ละวัน ได้แก่
* การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (14.2% ของบริษัท)
* การปรับปรุงคุณภาพและเวลาในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์หรือบริการออกสู่ตลาด (11.2%)
* การปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด (10.2%)
* การลดต้นทุน (9.9%)
* การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการตัดสินใจ (9.3%)
เมื่อพิจารณาไปที่บริษัทส่วนใหญ่ที่มีการนำ ไอไอโอที เข้ามาใช้ในการทำงานแล้ว พบว่าบริษัทที่ประสบความสำเร็จมักจะเริ่มต้นด้วยขั้นตอนการเลือกแนวทางที่เหมาะสมเพียงสองสามขั้นตอนและค่อยๆ ทำการ
เปลี่ยนแปลง โดยสามารถเริ่มต้นด้วยการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์เพียงชิ้นเดียวก็ได้ การหารายได้เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยจากสิ่งนี้สามารถจุดประกายให้ก้าวไปสู่ขั้นตอนที่ใหญ่กว่าเดิม สิ่งที่เกิดขึ้นได้หากเราผสานรวมการค้นพบเหล่านี้เข้ากับข้อมูลที่ได้จากแหล่งอื่นๆ เช่น จากเหตุการณ์ภายนอก อาทิ การพยากรณ์อากาศหรือการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงการดำเนินงานกับเครื่องจักรโดยใช้อมูลดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างไร
กุญแจสำคัญคือคำถามที่ว่า ‘เราสามารถสร้างประสิทธิภาพให้เพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยได้อย่างไร’ ไม่ใช่ถามว่า ‘เราจะเปลี่ยนแปลงธุรกิจทั้งหมดได้อย่างไร’ การเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปคือกฎเหล็กของเกมนี้ ไอไอโอที คือแนวทางที่จะเข้าเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดียิ่งขึ้น
ความเชื่อที่ 3: ไอไอโอที มีราคาแพงและต้องใช้เงินลงทุนมาก
เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา ข้อความนี้อาจเป็นจริง แต่หลังจากได้มีการพัฒนากุญแจดอกสำคัญสามดอกก็ทำให้การนำ ไอไอโอที ไปใช้เป็นสิ่งที่สามารถจับต้องได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน:
ราคาของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ด้าน ไอไอโอที ลดลง: อุปกรณ์ทุกสิ่งอย่าง ตั้งแต่เซ็นเซอร์ที่มีขนาดเล็กที่สุดไปจนถึงเกตเวย์ขนาดใหญ่ มีราคาลดลงแล้วในตอนนี้ นอกจากจะถูกลงแล้ว เซ็นเซอร์และเกตเวย์ยังมีความฉลาดเพิ่มขึ้นด้วย และเหมาะอย่างยิ่งที่ทุกอุตสาหกรรมจะนำไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมซอฟต์แวร์ของคุณ ขอยกตัวอย่างง่ายๆ กรณีของรถโฟล์คลิฟท์ เมื่อสิบปีที่แล้ว การเชื่อมต่อรถคันใดคันหนึ่งเข้ากับระบบถือว่ามีราคาสูง อย่างน้อยก็หลายพันยูโร และเป็นสิ่งที่ยากจะเอื้อมถึงสำหรับผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์และผู้ผลิตต่างๆ แต่ปัจจุบันการเชื่อมต่อรถโฟล์คลิฟท์เพียงคันเดียวกลับมีราคาไม่เกิน 10 ยูโรด้วยซ้ำ
การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่มีความครอบคลุมและถูกลงกว่าเดิม: สิ่งนี้ทำให้เป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้นในการเชื่อมต่อเครื่องจักรและอุปกรณ์จำนวนมากขึ้นเข้าด้วยกัน แม้ว่าจะอยู่คนละเขตพื้นที่ โดยสามารถดำเนินการได้ครอบคลุมกว่าเดิมด้วยต้นทุนที่ต่ำลง นอกจากนี้ การพัฒนาสิ่งใหม่ๆ เช่น เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 5จี และ LoRa ยังทำให้แน่ใจด้วยว่าแนวโน้มนี้จะต้องเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง
แพลตฟอร์มระบบคลาวด์สำหรับ ไอโอที มีประสิทธิภาพคุ้มค่า: เมื่อพิจารณาในฝั่งของแพลตฟอร์ม เราจะพบการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่น่าตื่นเต้น ขณะนี้มีแพลตฟอร์ม ไอโอที บนระบบคลาวด์ที่พร้อมใช้งานแล้ว แพลตฟอร์มนี้สามารถจัดการกับระบบจัดเก็บข้อมูลและการประมวลผลขนาดใหญ่ได้อย่างไม่ต้องสงสัย โดยในขณะนี้มีผู้ให้บริการที่เพิ่มจำนวนขึ้นจากแต่ก่อนมาก
การเปลี่ยนแปลงในสามสิ่งนี้ทำให้มีความเป็นไปได้ที่บริษัทต่างๆ จะเริ่มต้นโครงการ ไอไอโอที ให้เร็วขึ้นและมีความเสี่ยงน้อยลงกว่าแต่ก่อน รวมทั้งทำการทดลองใช้งานให้มากขึ้นเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จอันใกล้
การทำให้ข้อมูลสามารถนำไปใช้งานได้จริง – กุญแจสู่ควาสำเร็จด้าน ไอโอที
นอกจากความเชื่อเกี่ยวกับ ไอไอโอที เหล่านี้แล้ว ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่หลายบริษัทอาจมองข้ามไป นั่นคือข้อมูล ไอไอโอที ของตนสามารถนำไปใช้งานจริงได้อย่างไร เพื่อให้ได้รับสิ่งตอบแทนจากการลงทุนใน ไอไอโอที ไม่จำเป็นต้องหยุดอยู่ที่การเก็บรวบรวมและการวิเคราะห์ข้อมูล ไอโอที เท่านั้น ให้เดินหน้าทำต่อไปแม้ว่าจะยังไม่สามารถสร้างรายได้จากจุดนี้ก็ตาม การได้รับประโยชน์จาก ไอไอโอที นั้น จำเป็นต้องเปลี่ยนความรู้และข้อมูลเชิงลึกให้กลายเป็นแนวทางปฏิบัติที่สามารถปรับเปลี่ยนธุรกิจของคุณให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแผนการบำรุงรักษาที่เหมาะสมยิ่งขึ้น ระดับการบริการที่สูงขึ้น ระบบโลจิสติกส์ที่ดีขึ้น การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่าเดิม หรือการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ทั้งหมด
สิ่งนี้สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้ในหลายวิธี แต่ขั้นตอนหนึ่งที่สำคัญคือการเปลี่ยนข้อมูลของคุณให้สามารถนำไปใช้งานได้จริง ซึ่งเป็นการทำให้เกิดกระบวนการที่เหมาะสมโดยอัตโนมัติโดยอาศัยข้อมูลที่เก็บรวบรวมได้ดังกล่าว ตัวอย่างเช่น: เซ็นเซอร์ที่ติดตั้งไว้จะเก็บบันทึกข้อมูลอุณหภูมิที่สูงเกินไป แทนที่จะทำหน้าที่เพียงจัดเก็บข้อมูลเท่านั้น แต่เซ็นเซอร์จะลงทะเบียนและดำเนินการกับข้อมูลนี้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับการส่งต่อข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่บริการโดยอัตโนมัติ เพื่อดำเนินการเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไหล่ที่มีความร้อนสูงเกินปกติ
ดังนั้นจึงเป็นการช่วยป้องกันความผิดพลาดร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต การลงมือปฏิบัติได้จริงและการสร้างระบบอัตโนมัติจะเป็นที่ประจักษ์เมื่อ ไอไอโอที เกิดขึ้นในชีวิตจริงและสามารถสร้างรายได้ได้อย่างมหาศาล