WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันจันทร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
คปภ. แถลงทิศทางการกำกับดูแลอุตสาหกรรมประกันภัยหลัง COVID-19 ในยุค New Normal

10 ตุลาคม 2563 : ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. จัดกิจกรรมแถลงผลงาน ภายใต้หัวข้อ “ทิศทางการกำกับดูแลอุตสาหกรรมประกันภัยไทย หลัง COVID-19 และการขับเคลื่อนประกันภัยในยุค New Normal” เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2563 ณ โรงแรมเรเนซองส์ พัทยา รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดชลบุรี

โดยกล่าวว่า อุตสาหกรรมประกันภัยไทย ได้พบกับบททดสอบใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม อันเนื่องมาจากระบบเศรษฐกิจโลกได้เข้าสู่บริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ (New Normal) ในขณะเดียวกันโลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง จึงทำให้อุตสาหกรรมประกันภัยไทยต้องเผชิญกับบริบทโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

สำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย จึงได้บูรณาการร่วมกันขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ เพื่อก้าวข้ามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีทิศทางการกำกับดูแลอุตสาหกรรมประกันภัยไทย หลัง COVID-19 และการขับเคลื่อนประกันภัยในยุค New Normal ที่มีประเด็นสำคัญ ๆ ได้แก่ การออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยจัดทำผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองโรคโควิด-19 โดยเฉพาะ

รวมถึงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการและรองรับวิถีชีวิตของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่น กรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพเฉพาะโรค การประกันภัยที่รองรับสังคมผู้สูงอายุ Long-Term Care Product และ Remote Treatment การประกันภัยรองรับนโยบายของภาครัฐ เช่น กรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 สำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยตามที่ ศบค. กำหนด หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตามภูมิภาคหรือพื้นที่เฉพาะ เช่น การประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยลำไย การประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟ การประกันภัยประมง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านสุขภาพด้วยการประกันภัย เพื่อศึกษากฎหมาย รูปแบบ และมาตรการภาครัฐเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านสุขภาพของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะสาธารณรัฐเกาหลี สำหรับใช้เป็นแนวทางในการจัดทำพระราชบัญญัติประกันภัยสุขภาพ (ภาคสมัครใจ) ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงทางการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง ด้วยการประกันภัย เพื่อพัฒนาระบบประกันภัยให้รองรับความเสี่ยงภัยของเกษตรกรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจและสามารถบริหารความเสี่ยงภัยจากภัยธรรมชาติ

ทั้งนี้ นโยบายที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การเชื่อมโยงระหว่างโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับธุรกิจประกันภัย โดยผลักดันให้นำการประกันภัยไปใช้ในการบริหารความเสี่ยงของภาครัฐ และส่งเสริมธุรกิจประกันภัยในการลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการลงทุนขนาดใหญ่และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ

นอกจากนี้ ได้เปิดโอกาสให้บริษัทประกันภัยสามารถลงทุนในธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อประกอบกิจการสถานพยาบาล โรงพยาบาลหรือกิจการที่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง (Long-term care) ในประเทศไทย นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจประกันภัย และสามารถขยายสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงการผ่อนคลายการลงทุน ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามระดับความมั่นคงของมาตรฐานการเงิน

สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายแม่บทประกันภัย กลุ่มที่ 1-3 ซึ่งกลุ่มที่ 1 มุ่งเน้นให้ความคุ้มครองประชาชนโดยตรง การกำหนดเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย ปรับปรุงการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของคนกลางประกันภัย โดยได้ดำเนินการและมีผลใช้บังคับใช้เมื่อปี 2562 สำหรับกลุ่มที่ 2 การเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงของบริษัท และกลุ่มที่ 3 การส่งเสริมการควบโอนกิจการและความรับผิดของกรรมการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยได้พิจารณาหลักการของร่างกฎหมายในวาระแรกเสร็จสิ้นแล้ว และจะเริ่มพิจารณาถ้อยคำ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2563

รวมไปถึง ยังได้มีการพัฒนาและศึกษาเพื่อยกร่างกฎหมาย อาทิ กฎหมายประกันภัยทางทะเล กฎหมายประกันภัยพืชผลทางการเกษตร การประมง และปศุสัตว์ และกฎหมายประกันสุขภาพ (ภาคสมัครใจ) รวมถึงการบูรณาการร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อร่างแนวทางปฏิบัติในการเตรียมพร้อมรองรับ พ.ร.บ. ข้อมูลส่วนบุคคลฯ และได้ดำเนินโครงการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายอนุบัญญัติ Regulatory Guillotine Project เพื่อทบทวนกฎหมายอนุบัญญัติตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ในคราวเดียวกัน

โดยศึกษา Regulatory Impact Assessment (RIA) วิเคราะห์ต้นทุน อุปสรรค และประสิทธิภาพของกฎระเบียบในปัจจุบัน เพื่อลดละ เลิกกฎหมายที่ล้าสมัย หรือไม่จำเป็น และปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน ปี 2564

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน คปภ. ได้ให้ความสำคัญในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อสนับสนุนงานคุ้มครองสิทธิด้านการประกันภัยให้แก่ประชาชน โดยการเชื่อมโยงฐานข้อมูลเรื่องร้องเรียนทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เรื่องไกล่เกลี่ยโดยผู้ชำนาญการ และอนุญาโตตุลาการ ซึ่งระบบฐานข้อมูลเหล่านี้จะเชื่อมโยงกันทั้งหมด โดยประชาชนที่ยื่นร้องเรียนสามารถที่จะติดตามตรวจสอบสถานะเรื่องร้องเรียนของตนเองได้

ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการดำรงชีวิตของคนในสังคม สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย จึงได้ดำเนินโครงการจัดทำฐานข้อมูลกลางด้านการประกันวินาศภัย (Non-Life Insurance Bureau System) และกำลังขยายผลในด้านการประกันชีวิต (Life Insurance Bureau System) ซึ่งโครงการทั้งสองจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกลางด้านการประกันภัย เพื่อประโยชน์ทั้งด้านการกำกับดูแล ด้านการบริการและคุ้มครองสิทธิประชาชน รวมถึงเผยแพร่ให้บริษัทประกันภัยใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ ได้จัดตั้ง Center of InsurTech, Thailand (CIT) เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการประกันภัย และเทคโนโลยีประกันภัยในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ให้ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมทั้งผลักดันให้ประเทศไทยเป็น InsurTech Startup Hub โดยศูนย์ CIT จะขยายบทบาทในการร่วมพัฒนา RegTech และ SupTech ให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็น One Stop Services ศูนย์กลางในการให้คำปรึกษาคำแนะนำให้แก่บริษัทประกันภัย และ Startup ในทุกมิติ เพื่อรองรับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต

ทั้งนี้ CIT ยังเป็นหน่วยงานในการพัฒนา Digital Infrastructure ที่สำคัญให้กับธุรกิจประกันภัยของไทย อาทิ โครงการ OIC Gateway ที่จะอำนวยความสะดวกให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลในทุกภาคส่วนแบบอัตโนมัติ โครงการ Insurance Regulatory SandBox เพื่อพัฒนาหรือปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับนวัตกรรมด้านการประกันภัยในปัจจุบัน Chatbot @OICConnect เพื่อตอบข้อซักถามด้านการประกันภัย ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมประกันภัยใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศอย่างยั่งยืน

จัดทำโครงการพัฒนาระบบการขอรับความเห็นชอบอัตราเบี้ยประกันภัย แบบและข้อความของกรมธรรม์ประกันภัย (Internet Service for System for Electronic Rate and Form Filing : I-SERFF) เพื่อเป็นช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กับบริษัทประกันภัยในการยื่นขอรับความเห็นชอบแทนการยื่นโดยใช้เอกสาร

ในขณะเดียวกันก็มีการจัดทำแอปพลิเคชั่น เช่น “ME Claim” ที่อำนวยความสะดวกในการแจ้งเคลมประกันภัยรถยนต์ และ“คนกลาง ForSure” เพื่อให้บริการข้อมูลใบอนุญาตของคนกลางประกันภัย และการเพิ่มหลักเกณฑ์เรื่อง Digital Face to Face ที่ผู้เสนอขายสามารถเสนอขายโดยใช้เสียง หรือเสียงและภาพ โดยให้ถือเสมือนเป็นการพบลูกค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน รวมถึงนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลบ และพฤติกรรมทางการตลาดสำหรับประเมินความเสี่ยงและกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาจากเรื่องร้องเรียน อาทิ Social media News website Community Forums

สำนักงาน คปภ. ได้มีแนวทางในการปรับเปลี่ยนองค์กรมุ่งสู่ Smart OIC เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) สำนักงานจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานภายในให้แข็งแรง (2) การสร้างรูปแบบการทำงานใหม่ (3) การมุ่งเน้นสู่การเป็นหน่วยงานกำกับดูแลดิจิทัล และจัดทำร่างแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 โดยแบ่งเป็น 4 ยุทธศาสตร์หลัก คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาและส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัย ปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับสภาพแวดล้อมใหม่ ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงด้านการประกันภัยให้ประชาชนและภาคเอกชนยุทธศาสตร์ที่ 3 ผลักดันให้ระบบประกันภัยมีบทบาทในการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน และยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัยเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจประกันภัย

“ในบริบทของ New normal สำนักงาน คปภ. ได้เริ่มดำเนินการที่สำคัญ ๆ ไปแล้วหลายโครงการ และหนึ่งในโครงการที่มีความสำคัญมาก คือ โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศ ที่จะเชื่อมโยงฐานข้อมูลด้านการร้องเรียน งานไกล่เกลี่ยโดยผู้ชำนาญการ และงานอนุญาโตตุลาการ ซึ่งประชาชนจะสามารถสืบค้นสถานะเรื่องร้องรียนได้ทางออนไลน์ โดยจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้

ดังนั้น โครงการนี้จะเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องประชาชน อย่างไรก็ตาม การทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนไม่ได้ขึ้นอยู่กับสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับการเชื่อมโยงของสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์และสายงานอื่นๆ โดยมีบูรณาการทำงานเป็นระบบทั้งด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ด้านตรวจสอบ และด้านกำกับ และเชื่อมโยงทั้งในส่วนของระบบ IT และการบูรณาการทำงานกับภาคธุรกิจประกันภัย รวมถึงเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้น ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเป้าหมายความสำเร็จของสำนักงาน คปภ. อยู่ที่ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบประกันภัยเป็นสำคัญ” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ประกันภัย ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP