7 ตุลาคม 2563 : เข้าสู่เดือนต.ค.อย่างเป็นทางการแล้ว ในขณะเดียวกันผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดร.วิรไท สันติประภพ ก็ได้ส่งไม้ต่อให้กับ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ หรือ ดร.นก เพื่อเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. คนที่ 21 เมื่อต้นเดือนต.ค.2563 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ก่อนจะสิ้นสุดภาระกิจที่แบงก์ชาติของ ดร.วิรไท อดีตผู้ว่าฯ ร่วมงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2563 เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2563. ภายใต้หัวข้อ “ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ทำอย่างไรให้เกิดได้จริง” Restructuring the Thai Economy
ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่มีความท้าทายยิ่ง เพราะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติด้านสาธารณสุขที่ส่งผลให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ไม่มีใครทราบว่าวิกฤติครั้งนี้จะจบลงเมื่อใดและจะจบลงอย่างไร การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะใช้เวลายาวนานแค่ไหน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายหลังวิกฤติโควิดจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่เชื่อว่า ชีวิตวิถีใหม่และธุรกิจวิถีใหม่ในโลกหลังโควิดหลายอย่างจะต่างไปจากเดิม การแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ทำให้เราเห็นปัญหาต่าง ๆ ของเศรษฐกิจไทยที่สะสมมายาวนานชัดเจนขึ้น และโควิด 19 ได้ส่งผลให้ปัญหาเหล่านี้รุนแรงยิ่งขึ้นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นความเสื่อมถอยของผลิตภาพ (productivity) การขาดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำที่อยู่ในระดับสูง และการขาดภูมิคุ้มกันในหลายระดับของสังคมไทย
ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง การแก้ปัญหาเหล่านี้จึงต้องแก้ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เราได้พูดคุยกันเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจมาต่อเนื่อง หลายครั้ง หลายเวที แต่ก็ยังไม่เกิดผลจริง หัวข้อของงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทยในปีนี้จึงต้องการตอบโจทย์ว่า “ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ทำอย่างไรให้เกิดได้จริง”
โดยคนไทยจะกินดีอยู่ดีได้อย่างยั่งยืน ระบบเศรษฐกิจไทยต้องมีรากฐานที่ดีอย่างน้อย 3 ด้าน คือ (1) คนไทยและธุรกิจไทยต้องมีผลิตภาพสูง มีความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้ (2) คนไทยและธุรกิจไทยต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดี สามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในโลกที่ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือสูง และ (3) การกระจายผลประโยชน์จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะต้องทั่วถึง ไม่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยรุนแรงขึ้น ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้แสดงให้เห็นความอ่อนแอทั้ง 3 ด้านนี้เพิ่มขึ้น ทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค
ประการแรก ด้านผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขันในระดับจุลภาค ธุรกิจไทยจำนวนมากทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรมีผลิตภาพต่ำ ซึ่งมีเหตุผลมาจากการขาดแรงจูงใจและแรงกดดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ต้องเผชิญอุปสรรคในการพัฒนาทักษะและการเข้าถึงเทคโนโลยี
นอกจากนี้ การโยกย้ายแรงงานและทุนจากภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพต่ำไปสู่ภาคเศรษฐกิจที่มีผลิตภาพสูงยังถูกจำกัดด้วยปัจจัยหลายประการ เช่น กฎเกณฑ์กติกาของภาครัฐที่ล้าสมัยและเอื้อต่อธุรกิจขนาดใหญ่ การผลิตและห่วงโซ่อุปทานในหลายอุตสาหกรรมถูกควบคุมโดยผู้ผลิตรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ขาดการแข่งขันกันระหว่างธุรกิจอย่างจริงจัง ทำให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่อาจจะมีนวัตกรรมหรือแนวคิดใหม่ ๆ ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดเพื่อแข่งขันกับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่เป็นเจ้าตลาดอยู่เดิมได้ ในบางภาคเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการเอกชนยังต้องแข่งขันกับรัฐวิสาหกิจที่มีข้อได้เปรียบหลายด้านด้วย ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขาดพลวัต การจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจขาดประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกของประเทศไทยถูกลดทอนลงในระดับมหภาค
โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาการผลิตและบริการแบบดั้งเดิมอยู่มาก ในขณะที่การปรับตัวสู่เศรษฐกิจสำหรับโลกใหม่เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้บทบาทของผู้ผลิตไทยในห่วงโซ่อุปทานยังจำกัดอยู่ในกิจกรรมการผลิตที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ในขณะที่กิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยเฉพาะที่เน้นการวิจัยและพัฒนาและกิจกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลแพลตฟอร์มเป็นฐานยังไม่พัฒนาอย่างแพร่หลาย ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยมีพื้นฐานดี ได้เปรียบประเทศอื่นในหลายอุตสาหกรรม
ประการที่สอง เศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันต่ำและขาดความสามารถในการรับมือกับภัยต่าง ๆ เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไข เพราะโลกจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมถึงความไม่แน่นอนในมิติใหม่ ๆ ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น สภาวะโลกร้อน ภูมิอากาศแปรปรวน และการแพร่กระจายของโรคอุบัติใหม่ที่จะเพิ่มสูงขึ้นในระดับจุลภาค ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจไทยมีความเปราะบางทางการเงิน ครัวเรือนและธุรกิจจำนวนมากโดยเฉพาะ SMEs มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการออมและสินเชื่อ ทำให้ไม่มีแหล่งเงินสำรองไว้ใช้ในยามวิกฤติ รวมทั้งไม่สามารถกู้ยืมเงินเพิ่มจากสถาบันการเงินในระบบได้ในสถานการณ์ที่จำเป็นเร่งด่วน
นอกจากนี้ แรงงานและผู้ประกอบการจำนวนมากยังอยู่นอกระบบ ไม่มีกลไกของภาครัฐที่จะดูแลได้อย่างทั่วถึง แรงงานเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดด้านทักษะและความสามารถในการปรับตัวเมื่ออาชีพที่ทำอยู่เดิมได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่คาดคิดในระดับมหภาค โครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพิงเศรษฐกิจต่างประเทศมาก ปฏิเสธไม่ได้ว่าการส่งออกสินค้าและบริการเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่การพึ่งพิงดังกล่าวก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้เศรษฐกิจไทยเปราะบางและได้รับผลกระทบรุนแรงในยามที่เศรษฐกิจโลกสะดุดลง ดังจะเห็นได้จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ติดลบสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศจากวิกฤตโควิด 19 ครั้งนี้
ประการที่สาม ผลประโยชน์จากการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยกระจุกตัวสูง และมีความเหลื่อมล้ำสูงในหลายมิติ คนไทยต้องเผชิญความเหลื่อมล้ำทางโอกาสตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่มีความรู้น้อย มีทุนทรัพย์น้อย มักจะมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ตั้งแต่แรกเกิด เมื่อโตขึ้นมาก็มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา บริการสุขภาพ และทรัพยากรต่าง ๆ แตกต่างกัน เด็กจากครอบครัวยากจนมีโอกาสเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเพียงร้อยละ 5
ในขณะที่เด็กจากครอบครัวที่มีฐานะดีเกือบทั้งหมดมีโอกาสศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ความเหลื่อมล้ำในช่วงปฐมวัยนี้ได้ส่งผลต่อไปยังโอกาสในการทำงาน การประกอบกิจการ และรายได้ที่แตกต่างกัน ความได้เปรียบเสียเปรียบยังสั่งสมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดช่วงอายุ และส่งผ่านต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานอีกด้วยความเหลื่อมล้ำสูงในมิติต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นจากตัวเลขการกระจุกตัวทางเศรษฐกิจ ในภาคครัวเรือน ประชากรที่มรายได้สูงสุดร้อยละ 1 แรกของประเทศ มีรายได้รวมกันถึงร้อยละ 20 ของรายได้ทั้งหมดของประชากรทั้งประเทศ
ส่วนในภาคการผลิต ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สุดร้อยละ 5 ครองส่วนแบ่งรายได้ถึงร้อยละ 85 ของรายได้จากการผลิตนอกภาคเกษตรทั้งหมด ความเหลื่อมล้ำเหล่านี้เป็นทั้งอาการและสาเหตุของปัญหา ที่นำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ทางสังคมอีกมาก นอกจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังกระจุกตัวเชิงพื้นที่สูง ผลผลิตมวลรวมรายจังหวัดต่อหัว (gross provincial product per capita) ของจังหวัดที่สูงสุด สูงกว่าจังหวัดที่ต่ำที่สุดถึง 18 เท่า
สถานการณ์โควิด 19 ได้ซ้ำเติมปัญหาเหล่านี้ให้รุนแรงยิ่งขึ้น ครัวเรือน แรงงาน และผู้ประกอบการได้รับผลกระทบอย่างมาก มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดชั่วคราวและอุปสงค์ที่หดตัวลงแรงทำให้ SMEs จำนวนมากต้องปิดกิจการ ส่วนธุรกิจที่ยังดำเนินการอยู่ก็มียอดขายลดลง ธุรกิจจำนวนมากต้องเลิกจ้างหรือลดชั่วโมงการจ้างงาน ครัวเรือนและธุรกิจต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากวิกฤตินี้ ส่วนใหญ่มีข้อจำกัดในการปรับตัวและการรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ อยู่แต่เดิม ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงทุน การพัฒนาทักษะ หรือการใช้เทคโนโลยี วิกฤติครั้งนี้จึงซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำให้รุนแรงยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ โครงสร้างตลาดในหลายอุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างมาก วิกฤตโควิด 19 จะทำให้หลายอุตสาหกรรมทั่วโลกมีกำลังการผลิตส่วนเกิน (excess capacity) สูงต่อเนื่องไปอีกหลายปี หากกำลังการผลิตส่วนเกินนี้ไม่ถูกจัดการหรือโยกย้ายไปสู่ภาคการผลิตอื่น ผลิตภาพรวมของระบบเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะยิ่งลดต่ำลงอีก รวมทั้งผู้ประกอบการที่อยู่ในภาคการผลิตเหล่านี้จะมีทุนลดลงเรื่อย ๆ ขาดภูมิคุ้มกันที่จำเป็นสำหรับการเผชิญกับภัยและความท้าทายใหม่ ๆ ในอนาคต เราไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เกิดผลได้จริง ชีวิตวิถีใหม่ และธุรกิจวิถีใหม่หลังโควิด 19 จะต่างไปจากเดิมมาก
การแข่งขันจะสูงขึ้นเพราะทั้งโลกมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ในระดับสูง เศรษฐกิจไทยต้องสามารถจัดสรรโยกย้ายทรัพยากรไปสู่ธุรกิจที่มีผลิตภาพสูงให้ได้ ต้องเน้นที่การสร้างมูลค่าเพิ่มในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทานอย่างจริงจัง ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามลดการพึ่งพิงภาคเศรษฐกิจใดภาคเศรษฐกิจหนึ่งมากจนเกินไป รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการกระจายทรัพยากรและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีผลิตภาพสูงขึ้น มีภูมิคุ้มกันดีขึ้น และมีความเหลื่อมล้ำลดลง เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน สำหรับทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด 19 และการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนให้แก่คนไทยในระยะยาว