30 กันยายน 2563 : ธนาคารทิสโก้ เปิดมิติใหม่บริการให้คำแนะนำด้านประกันสุขภาพ เพื่อความมั่นคงทางการเงินและคุณภาพชีวิต แนะวางแผนค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลอย่างไร ให้ครอบคลุมความเสี่ยงหลังเกษียณ ชูธีม “Life is Change. Choose Wisely. – เปลี่ยนความคิดเรื่องประกัน เลือกกรมธรรม์ที่ใช่”
นายพิชา รัตนธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจธนบดี ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ด้วยเป้าหมายการเป็นผู้ให้คำแนะนำทางการเงินแก่ลูกค้าแบบ Holistic Advisory ทิสโก้จึงเดินหน้าให้บริการให้คำแนะนำด้านประกันสุขภาพ หรือ Health Protection Advisory ควบคู่กับการเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน เพื่อช่วยให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมายความมั่นคงทางการเงิน และสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับไลฟ์สไตล์ที่เลือก
อย่างไรก็ดี คนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นความสำคัญของการวางแผนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะยาว ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงทางการเงินอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงในช่วงหลังเกษียณโดยไม่มีประกันสุขภาพ ก็อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิต บางรายแม้จะมีกรมธรรม์ประกันสุขภาพแล้ว แต่ก็ไม่ได้ศึกษารายละเอียดข้อจำกัดต่างๆ ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากกรมธรรม์ได้อย่างเต็มที่เมื่อเจ็บป่วยหรือเป็นโรคร้าย ซึ่งอาจส่งผลให้เงินทองที่เก็บสะสมมาตลอดชีวิตต้องหมดไปในระยะเวลาอันสั้น
“ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยนความคิดให้การประกันสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับชีวิต เช่นเดียวกับการลงทุน ต้องให้ความสำคัญ และต้องเลือกให้ดี ผู้ซื้อต้องเข้าใจในรายละเอียด แต่เนื่องจากรายละเอียดที่มีค่อนข้างเยอะและเป็นภาษาที่เข้าใจยาก ทำให้อาจเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง หรือหลายครั้งก็ไม่ได้ศึกษาเงื่อนไขและข้อจำกัดของกรมธรรม์อย่างจริงจัง สุดท้ายกรมธรรม์ที่ซื้อไปก็อาจไม่ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริง และกว่าจะรู้ตัวก็เกิดโรคร้ายขึ้นแล้ว จากนี้ไปทิสโก้จะใช้ความเชี่ยวชาญของเราช่วยให้คำแนะนำ รณรงค์ให้เห็นความสำคัญตรงนี้อย่างจริงจัง ภายใต้ธีม “Change and Choose” หรือ “Life is Change. Choose Wisely.” นายพิชา กล่าว
นายพิชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพมีมาหลายยุคสมัย จากยุคแรกที่เน้นคุ้มครองชีวิตเพียงอย่างเดียว มาถึงยุคคุ้มครองสุขภาพพ่วงประกันชีวิตแต่จำกัดความคุ้มครองในบางกลุ่มโรค ต่อมาเป็นยุคประกันสุขภาพแบบแยกประเภทค่าใช้จ่าย โดยจำกัดวงเงินในแต่ละรายการ เช่น ค่าห้อง ค่ายา ฯลฯ หากค่าใช้จ่ายกลุ่มนั้นเกินกว่าที่กรมธรรม์ระบุไว้ผู้ทำประกันก็ต้องจ่ายเพิ่ม จนมาถึงยุคล่าสุดประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย เป็นประกันสุขภาพที่ผู้ซื้อไม่ต้องกังวลเรื่องการจำกัดวงเงินค่ารักษา เพราะความคุ้มครองจะครอบคลุมตามวงเงินสูงสุดที่กรมธรรม์กำหนดไว้
นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ หัวหน้าที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ข้อมูลที่จะชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้อง “เปลี่ยนความคิด” ด้านการเลือกซื้อประกันสุขภาพ สามารถพิจารณาได้จากสถิติขององค์การอนามัยโลกระบุว่าปี 2559 กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคไตเรื้อรัง ฯลฯ เป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิตของคนทั่วโลกมากกว่า 40.5 ล้านคนต่อปีหรือคิดเป็น 71% (ที่มา: www.who.int, 2563)
สำหรับประเทศไทยมีข้อมูลชัดแล้วว่าขณะนี้โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นสาเหตุ หลักของการเสียชีวิต 75% ของการเสียชีวิตทั้งหมด หรือประมาณ 320,000 คนต่อปีโดยในทุก 1 ชั่วโมงจะมีผู้เสียชีวิต 37 ราย และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก โดยเฉพาะโรคมะเร็ง (กระทรวงสาธารณสุข, 2563) ขณะที่ค่ารักษาพยาบาลก็ปรับสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่คนไทยส่วนใหญ่ ยังคงมีความคิดว่า อาจจะยังไม่ป่วยเป็นโรคร้ายเหล่านี้ ทั้งที่ในความเป็นจริง กลุ่มโรค NCDs มีโอกาสที่จะเป็นได้ง่ายขึ้นในยุคนี้ ดังนั้น ในฐานะผู้ให้บริการให้คำแนะนำด้านประกันสุขภาพ จึงอยากแนะนำให้คนไทยหันมา “เลือก” กรมธรรม์ที่จะช่วยคุ้มครองด้านค่าใช้จ่ายจากการเจ็บป่วยด้วยโรคเหล่านี้
“ปัญหาหนึ่งที่พบ คือ การซื้อประกันที่ยังไม่ค่อยตอบโจทย์เป้าหมายของตัวเอง บางคนยังขาด หรือบางคนซื้อเกินกว่าความจำเป็น ดังนั้น ลูกค้าสามารถเข้ามารับบริการที่ปรึกษาประกันสุขภาพได้ที่สาขาธนาคารทิสโก้ทั่วประเทศ โดยจะมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญช่วยวิเคราะห์กลั่นกรองผลิตภัณฑ์ประกันที่ดีที่สุด ในแต่ละประเภทจากบริษัทประกันชั้นนำมานำเสนอให้กับลูกค้าได้อย่างไม่จำกัดค่าย (Open Architecture) ด้วยคำแนะนำแบบเฉพาะเจาะจงตามความต้องการของลูกค้าในแต่ละราย เพราะลูกค้ามีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน จึงควรมีสิทธิเลือกสิ่งที่คุ้มค่าให้กับตัวเองมากที่สุดตั้งแต่แรก” นายณัฐกฤติ กล่าว
สำหรับวิธีการเลือกประกันสุขภาพให้ได้ประโยชน์นั้น ไม่ควรพิจารณาจากค่าเบี้ยประกันเป็นตัวตั้ง แต่ควรพิจารณารายละเอียดอย่างรอบด้าน ประกอบด้วย 1.วงเงินความคุ้มครอง ควรมีความคุ้มครองขั้นต่ำราว 3 - 5 ล้านบาท เพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลทั้งโรคทั่วไปและโรคร้ายแรง และสามารถรักษาในโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำได้
“ความคุ้มครองนั้นแบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่ แบบเหมาจ่ายต่อปี เป็นแบบประกันที่ค่าใช้จ่ายจะถูกนำไปหักออกจากวงเงินความคุ้มครองต่อปี เมื่อมีการเบิกเคลมค่ารักษาพยาบาล เหมาะกับผู้ที่ต้องการทำประกันสุขภาพเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยเรื้อรังจากโรคเดียวกันที่มีค่าใช้จ่ายสูงและต้องใช้ระยะเวลารักษานาน และแบบเหมาจ่ายต่อครั้ง รูปแบบนี้จะกำหนดวงเงินค่ารักษาพยาบาลต่อครั้งในการเข้ารับการรักษา แต่ไม่จำกัดวงเงินต่อปี เหมาะกับผู้ที่ต้องการปิดความเสี่ยงค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยบ่อยครั้ง หรือหลายโรคที่อาจเกิดขึ้นพร้อมกันภายในปีกรมธรรม์เดียวกัน” นายณัฐกฤติ กล่าว
2. ค่าห้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ถ้าต้องการให้ครอบคลุมคุณภาพการรักษาพยาบาลระดับโรงพยาบาลเอกชนก็ควรเลือกแผนประกันสุขภาพที่มีค่าห้องผู้ป่วยปกติต่อวันอย่างน้อย 8,000-10,000 บาทขึ้นไป และควรเผื่อในส่วนของการรักษาตัวในห้องผู้ป่วยฉุกเฉิน (ICU) ด้วย 3. ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (OPD) โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีสวัสดิการบริษัทจำเป็นต้องมีความคุ้มครองส่วนนี้อย่างยิ่ง
4.ลักษณะสัญญาการต่ออายุความคุ้มครองแบบปีต่อปี ควรเลือกทำประกันที่การันตีการต่ออายุ เพื่อเป็นหลักประกันว่าการรักษาจะมีความต่อเนื่องและสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้จนกว่าจะหายเป็นปกติ 5. อายุสูงสุด ที่บริษัทจะต่ออายุกรมธรรม์ เพราะหลังเกษียณเป็นช่วงที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมากกว่าก่อนเกษียณ ฉะนั้น จึงแนะนำว่าควรเลือกแบบประกันที่สามารถต่ออายุได้เทียบเท่ากับอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยหรือประมาณ 80 ปีเป็นอย่างน้อย และ 6. การเลือกบริษัทประกัน ควรเลือกบริษัทที่มีประวัติการดำเนินกิจการที่มั่นคงและน่าเชื่อถือ มีระบบการเคลมสินไหมที่ไม่ยุ่งยากจนเกินไป
“การซื้อประกันสุขภาพควรเปรียบเทียบ หรือ ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ ทำความเข้าใจกับเงื่อนไขและข้อจำกัดต่างๆ ของกรมธรรม์ที่อาจเป็นประเด็นที่ทำให้เราไม่สามารถเบิกค่ารักษาได้ในบางกรณี และเพื่อให้เรามั่นใจว่าประกันสุขภาพที่มีอยู่จะให้ความคุ้มครองครอบคลุมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายในการรักษายามเจ็บป่วยโดยไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นกับเราได้ในอนาคต” นายณัฐกฤติ กล่าว