11 กันยายน 2563 : ท่ามกลางปัญหาการเมืองภายในของอังกฤษที่ยากจะหาทางออกนับตั้งแต่เริ่มกระบวนการ BREXIT ในปี 2559 บวกกับเงื่อนเวลาที่ใกล้เข้ามา และสถานการณ์ล่าสุดที่ทางการอังกฤษเตรียมเสนอร่างกฎหมาย Internal Market Bill ที่เปิดช่องให้รัฐบาลอังกฤษสามารถมีข้อปฏิบัติที่ขัดแย้งกับความตกลงที่เคยให้ไว้กับ EU ได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เรื่องนี้จะเป็นชนวนใหม่ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับ EU กลับมาเปราะบางยิ่งกว่าเดิม มีผลให้การเจรจาความตกลงทางการค้าที่จะนำมามาทดแทนความสัมพันธ์เดิมที่ควรจะเกิดขึ้นได้ภายในปี 2563 คงไม่เกิด แต่กลับนำพาอังกฤษเข้าสู่เส้นทาง No-deal BREXIT ในวันที่ 31 ธันวาคม 2563
หากเกิด No-deal BREXIT ขึ้นจริงๆ ในวันที่ 1 มกราคม 2564 สถานการณ์ดังกล่าวยิ่งทำให้ค่าเงินปอนด์ผันผวนซ้ำเติมเศรษฐกิจอังกฤษที่เปราะบางอยู่แล้วอ่อนไหวมากขึ้นอีก ในท้ายที่สุดการทำธุรกิจของไทยคงต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงทางการส่งออกในระยะสั้นจากค่าเงินที่ผันผวน ทั้งนี้ ผู้ส่งออกไทยอาจได้อานิสงส์บางประการจากการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าของอังกฤษ
โดยในภาพรวมแม้สินค้าไทยหลักๆ จะมีภาษีคงเดิม อาทิ ไก่แปรรูปและรถจักรยานยนต์ แต่ก็มีสินค้าไทยหลายรายการได้ประโยชน์จากการลดภาษี อาทิ อาหารสุนัขและแมว อุปกรณ์รับส่งสัญญาณ อัญมณีและเครื่องประดับ และซอสปรุงรส อย่างไรก็ดี การเจรจา FTA ระหว่างไทยกับอังกฤษก็เป็นอีกเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยสร้างแต้มต่อทางการค้าให้แก่ไทยได้ในระยะยาว