กรุงเทพฯ 8 กันยายน 2559 : บล.เอเชีย เวลท์ คาดเอเชียขยายตัวเร็วที่สุดในโลก จะกลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนและเศรษฐกิจของโลกในทศวรรษใหม่ พร้อมชี้ตลาดหุ้นไทยน่าลงทุน มองเป้า SET Index ปี 60 ทะลุ 1,700 จุด แนะนำนักลงทุนลงทุนในหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง และมีอัตราเงินปันผลตอบแทนสูง
ดร. พิชิต อัคราทิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด กล่าวในงานสัมมนา Asia Wealth Forum 2560 ทศวรรษใหม่การลงทุน ว่า บล.เอเชีย เวลท์ มีมุมมองว่า ในทศวรรษการลงทุนใหม่ ตั้งแต่ปี 2560 เอเชีย จะเป็นเขตเศรษฐกิจที่ขยายตัวรวดเร็วที่สุดในโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเอเชียที่พัฒนาแล้ว ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า จะเติบโตสูงสุดที่ 6.4% ในปี 2560 และ 6.3% ในปี 2561 นำโดย อินเดีย ที่คาดว่าจะเติบโตสูงกว่า 7% และจีน ที่คาดว่าจะเติบโตสูงกว่า 6% ส่วนกลุ่มที่คาดว่าจะเติบโตรองลงมา คือ กลุ่ม ASEAN 5 ที่ IMF คาดว่า จะเติบโตที่ระดับ 4.8% ในปี 60 และ 5.1% ในปี 61 นำโดยฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย
ทั้งนี้ เอเชียมีเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพมากที่สุด โดยมีอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ต่ำ มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และมีอัตราการว่างงานต่ำ ทำให้สามารถใช้นโยบายการคลังซึ่งมีประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ยิ่งโตได้เร็วกว่า จึงเป็นทวีปที่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้มากที่สุด ทั้งนี้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่า ระหว่างปี 2010-2020 ประเทศในเอเชีย จะมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไม่น้อยกว่า 8.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งในด้านพลังงาน การสื่อสาร การขนส่ง และสาธารณูปโภค
ด้านผลตอบแทนจากตลาดหุ้นนับตั้งแต่ต้นปี สิ้นสุด ณ 30 สิงหาคม 2559 (YTD) จากดัชนี MSCI ตลาดหุ้นไทย (SET Index) ให้ผลตอบแทนสูงสุดในตลาดหุ้นเอเชีย ถึง 31% ชนะตลาดหุ้นอื่น ๆ ในเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย ที่ให้ผลตอบแทน 22% ไต้หวัน 15% เกาหลี 13% อินเดีย 7% และมาเลเซีย 6%
ดร.พิชิต กล่าวว่า จากการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจเอเชีย และการสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นของตลาดหุ้นไทย ทำให้ บล.เอเชีย เวลท์ ยังมีมุมมองเป็นบวกต่อการลงทุนในหุ้นไทย โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะเติบโตได้ดีในระดับ 3.5% และเติบโตสูงที่ระดับ 4.0% ในปี 2560 ซึ่งสูงกว่าที่ IMF ประเมินไว้ที่ระดับ 3.0 และ 3.2% ในปี 59 และ 60 ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนและใช้จ่ายของรัฐบาล การกลับมาขยายตัวของการบริโภคภาคครัวเรือนหลังจากภัยแล้งสิ้นสุดลง ความสงบมั่นคงภายในประเทศกลับคืนมา โดยที่ภาคเอกชนจะเริ่มกลับมาลงทุนหลังจากการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น แม้การส่งออกจะยังไม่ค่อยดีตามเศรษฐกิจโลกอยู่บ้างก็ตาม
ด้านการเจริญเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนฯ คาดว่า ปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 30.3% และในปี 2560 ที่ระดับ 15% ทั้งนี้ ในครึ่งแรกของปี 2559 กลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ธุรกิจการเกษตร บริการ ก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และสินค้าอุปโภคบริโภค (ซึ่งรวมกันคิดเป็น 41% ของกำไรบจ.) ขยายตัวเข้มแข็งต่อเนื่อง ในขณะที่กลุ่มทรัพยากรและพลังงาน (ซึ่งรวมกันคิดเป็น 23% ของกำไรบจ.) เริ่มกลับมามีการขยายตัวหลังจากราคาน้ำมันฟื้นตัวผ่านจุดต่ำสุดของวัฏจักรรอบนี้ ในเดือน ก.พ. มาแล้ว กลุ่มการเงิน (ซึ่งรวมกันคิดเป็น 23% ของกำไรบจ.) ใกล้จะกลับมามีการขยายตัว แม้ว่ากลุ่มสื่อสาร (ซึ่งรวมกันคิดเป็น 13% ของกำไรบจ.) จะยังมีกำไรหดตัวเนื่องจากภาระการลงทุนอย่างหนักในธุรกิจโทรศัพท์มือถือรุ่นที่ 4 ทั้งนี้ บล.เอเชีย เวลท์ มองเป้า SET Index ปีนี้ ที่ 1,600 จุด และปี 2560 ที่ระดับ 1,700 จุด
“ด้านการลงทุนในหลักทรัพย์ แนะนำให้ลงทุนในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เช่น UNIQ และ CK หุ้นกลุ่มท่องเที่ยว เช่น AOT และ ERW หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล ได้แก่ BDMS หุ้นกลุ่มให้เงินปันผลสูง เช่น INTUCH และ ADVANC หุ้นที่เติบโตโดดเด่น เช่น EPG และ GUNKUL หุ้นกลุ่มที่ปรับตัวตามเศรษฐกิจ (Cyclical) เช่น BBL และ TCAP และหุ้นที่มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ได้แก่ CPF และ TU” ดร.พิชิต กล่าว
นอกจากนี้ ด้านผลการดำเนินงานที่ผ่านมา บล.เอเชีย เวลท์ สามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดได้ตามเป้าหมาย โดยนับตั้งแต่ต้นปี สิ้นสุด ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2559 (YTD) บริษัทฯ มีส่วนแบ่งการตลาดที่ 3.55% ครองอันดับ 11 ของอุตสาหกรรม
ธุรกิจ Wealth Management บริษัทฯ มีสินทรัพย์ภายใต้การแนะนำและบริหาร (Asset Under Advisement and Management) รวม 15,719 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 12% จากสิ้นปี 2558 โดยแบ่งสัดส่วนเป็น พอร์ตตั๋วแลกเงินและหุ้นกู้ 51% กองทุนรวม 46% กองทุนส่วนบุคคล 3% โดยเราเป็นตัวแทนขายกองทุนรวม 17 บลจ.
ส่วนธุรกิจวาณิชธนกิจ คาดว่าปีนี้จะสามารถผลักดันให้บริษัทที่เป็นลูกค้าสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ประมาณ 2 บริษัท นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ธุรกิจยานยนต์ และธุรกิจโทรคมนาคม และธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ไม่น้อยกว่า 15 บริษัท เพื่อเตรียมความพร้อมให้บริษัทเหล่านั้นในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ SET และ MAI อีกด้วย