1 กันยายน 2563 : ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) ครั้งที่ 9/2563 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 มีมติเห็นชอบหลักการร่างประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดประเภทและชนิดของเงินกองทุน รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณเงินกองทุนของบริษัทประกันชีวิต/วินาศภัย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 ตามที่สำนักงาน คปภ. เสนอ เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านการตลาดจากราคาตราสารทุนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และการกำหนดค่าสหสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงด้านสินทรัพย์และความเสี่ยงด้านประกันภัย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ที่ประชุมเสนอให้มีการทบทวนหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง ใน 2 ประเด็น คือ 1. การคำนวนเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านการตลาดจากราคาตราสารทุน ในกรณีที่บริษัทมีการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง (hedging instruments) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการผันผวนของมูลค่าพอร์ตการลงทุนในตราสารทุนที่บริษัทมีอยู่ เนื่องจากประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดประเภทและชนิดของเงินกองทุน
รวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณเงินกองทุนของบริษัทประกันชีวิต/ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2562 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน กำหนดให้เงินกองทุนสำหรับความเสี่ยง ด้านตลาดจากราคาตราสารทุนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เท่ากับผลคูณระหว่างมูลค่าตราสารทุน (Total Exposure) กับค่าความเสี่ยง 25% โดยไม่มีการรับรู้ผลจากการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง
และ 2. การพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงด้านสินทรัพย์และความเสี่ยงด้านประกันภัย เพื่อปรับ diversification factor ในการจัดทำรายงานการดำรงเงินกองทุน เนื่องจาก diversification factor ที่ใช้ในปัจจุบัน กำหนดโดยใช้ดุลพินิจบนพื้นฐานของ ความระมัดระวัง (conservative) เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลประกอบการคำนวณค่าสหสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยง ด้านสินทรัพย์และความเสี่ยงด้านประกันภัยจากภาคธุรกิจ
อย่างไรก็ดี จากสภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน ทำให้ตลาดทุนมีความผันผวน อาจทำให้บริษัทประกันภัย เกิดผลขาดทุนจากการลงทุน หากบริษัทไม่สามารถใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ทางการเงินของบริษัทประกันภัย ดังนั้น เพื่อส่งเสริมให้บริษัทใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม สำนักงาน คปภ. จึงได้ศึกษาแนวทางดำเนินการพิจารณาทบทวนเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณเงินกองทุน ตามระดับความเสี่ยง
โดยพิจารณาด้วยความรอบคอบ ภายใต้หลักการเงินกองทุนที่บริษัทดำรงไว้ต้องสะท้อนความเสี่ยงอย่างเหมาะสม มีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การกำกับเงินกองทุนในระดับสากลและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย โดยปรับปรุงสูตรการคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านการตลาดจากราคาตราสารทุนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย ที่ใช้ในปัจจุบัน เป็น (Net exposure x 25%) + Over-hedged position เพื่อให้เงินกองทุนที่คำนวณได้สะท้อนถึงผลจากการใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารทุน และส่งเสริมให้บริษัทนำเครื่องมือป้องกัน ความเสี่ยงมาใช้บริหารความเสี่ยงด้านตลาด เพื่อรองรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในตลาดการเงินภายใต้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน
รวมถึงปรับปรุงค่าสหสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงด้านสินทรัพย์และความเสี่ยงด้านประกันภัยที่ร้อยละ 25 โดยเปรียบเทียบแนวทางการดำเนินงานจากประเทศต่าง ๆ อาทิ สหภาพยุโรป สิงค์โปร ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น และให้สอดคล้องกับผลการคำนวณค่าสหสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงด้านสินทรัพย์และความเสี่ยงด้านประกันภัยของธุรกิจ ในประเทศ
โดยกำหนดให้สำนักงาน คปภ. พิจารณาทบทวนการกำหนดค่าสหสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยงด้านสินทรัพย์และ ความเสี่ยงด้านประกันภัยภายในระยะเวลา 6 เดือน หลังจากที่ประกาศมีผลใช้บังคับ นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้ให้ บริษัทประกันภัยมีการทดสอบผลกระทบเชิงปริมาณตามหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบต่อภาคธุรกิจ โดยผลการทดสอบพบว่า หากบริษัทมีการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม จะส่งผลให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) ที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมบอร์ด คปภ. มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านตลาด จากราคาตราสารทุนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และการปรับปรุงค่าสหสัมพันธ์ระหว่างความเสี่ยง ด้านสินทรัพย์และความเสี่ยงด้านประกันภัย ตามหลักเกณฑ์ใหม่ ที่สำนักงาน คปภ.นำเสนอ ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้จะเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นทั้งทาง website คือ www.oic.or.th รวมทั้งจะมีหนังสือขอรับฟังความคิดเห็นจากผู้สอบบัญชี บริษัทประกันภัย สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย ฯลฯ ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม – 11 กันยายน 2563 โดยจะประมวลข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อนำมาปรับปรุงร่างประกาศ และจะนำเสนอต่อบอร์ด คปภ. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป