26 สิงหาคม 2563 : ข่าวการคว่ำบาตรแอพพลิเคชั่น “TIKTOK” เป็นประเด็นที่พูดถึงกันอย่างมากในช่วงนี้ ซึ่งตรงกันข้ามกับดัชนีหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี อย่าง NASDAQ 100 ที่กำลังทำลายสถิติ New High ของตัวเองไปอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้นแล้วกว่า 32% แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือดัชนีหุ้นเทคฯ จีนที่แม้เปิดตัวไปเมื่อ 27 กรกฏาคม 2020 อย่าง HANG SENG TECH INDEX แต่หุ้นเทคโนโลยี 30 ตัวที่อยู่ในดัชนีหากนับ Performance ตั้งแต่ต้นปีปรับตัวสูงขึ้นกว่า 52% เรียกได้ว่ามาแรงทั้งคู่ในปี 2020 นี้
การพัฒนาเทคโนโลยีของจีนที่รวดเร็วจนทั่วโลกจับตามอง
เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศจีนมีการพัฒนาที่รวดเร็วมากหลังจากการปฎิรูปประเทศของเติ้งเสี่ยวผิง จนมาถึงยุคของสีจิ้นผิง โดยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีนก็เป็นส่วนหนึงที่พัฒนาได้รวดเร็วเช่นกัน โดยหากเรามองภาพเทคโนโลยีแบบเรียบง่ายก็สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มแรกคือกลุ่ม HARDWARE ไม่ว่าจะเป็นการผลิต Mainboard, Memory, Chipset หรือการประกอบชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆ หากย้อนไปเมื่อสัก 10 กว่าปีก่อน เราจะเริ่มเห็นสินค้า IT ที่เริ่มตีตรา Made in China ออกมาสู่ตลาดโลกมากขึ้น ซึ่งมีทั้งผลิตให้กับ Brand ดัง และการผลิตสินค้าลอกเลียนแบบ
กลุ่มที่สองคือกลุ่ม SOFTWARE แม้ประเทศจีนนั้นจะมีการจำกัดการเข้าถึงข้อมูลหรือ Software ต่างๆ ทั้งการใช้ Email และ Social media อย่าง Google services, Facebook แต่ภายในประเทศจีนก็มีการพัฒนา Software ชื่อดังออกมามากมาย เช่น QQ, Baidu, WPSOffice และ Alibaba
ในช่วงแรกนั้นก็เป็นอย่างหลายประเทศที่เป็นการรับจ้างผลิตให้แบรนด์อื่นที่เรียกว่า OEM (Original equipment manufacturer) จากนั้นจึงค่อยพัฒนาปรับปรุงสร้างแบรนด์ของตนเอง โดยเน้นไปในกลุ่ม Hardware ก่อน เนื่องจากมี Supply Chain ที่เพียบพร้อม ยกตัวอย่างได้ชัดจาก MP3 Player และ Smartphone ยี่ห้อจีน ที่ยุคแรกมีการออกแบบ หรือใช้วัสดุเหมือนกันเพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนเมื่อต้องการผลิตจำนวนมาก (Economy of Scales)
จนมาในยุคหลังที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง ทั้งในด้าน Hardware และ Software ทำให้เริ่มมีบริษัทชั้นนำของจีนมี Market Share ในตลาดโลกมากขึ้นในหลายอุตสาหกรรม เช่น Xiaomi ที่เพิ่งฉลองครบรอบ 10 ปีของบริษัท จากการเริ่มต้นทำ Custom Rom (Software) แล้วเริ่มทำ Smartphone โดยในช่วงแรกมีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศจีนปี 2013 เพียง 5% แต่ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดโลกถึง 10% เป็นอันดับ 4 และได้รับความนิยมมากขึ้นในทั้งในด้านของ Smart Devices ต่างๆ เช่น เครื่องฟอกอากาศ, Smart Watch, Smart TV เป็นต้น
ไม่เฉพาะในด้าน Hardware ที่ประเทศจีนพัฒนามาได้อย่างรวดเร็วทางด้าน Software ก็เช่นกัน ยกตัวอย่าง Netflix ที่มีผู้ใช้งานทั่วโลกกว่า 192 ล้านคน ในฝั่งจีนก็มี Tencent Video หรือ iQIYI ที่มีผู้ใช้งานในหลัก 110 ล้านคน
เช่นกัน แต่แอพที่พูดถึงกันอย่าง TIKTOK นั้นมีผู้ใช้งานที่สูงกว่า 800 ล้านคนทั้งที่เปิดตัวมาได้เพียง 3 ปี แต่มีผู้ใช้งานใกล้เคียงกับ INSTAGRAM ที่มีผู้ใช้งาน 1 พันล้านคนโดยใช้ระยะเวลากว่า 9 ปี
เมื่อเทคโนโลยีของจีนกลายเป็นภัยคุกคามสหรัฐฯ
การพัฒนาเทคโนโลยีของจีนที่รวดเร็วของจีนเป็นหนึ่งในข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ ที่ว่าจีนได้ขโมยเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ โดยเรามองว่าเรื่องนี้ สหรัฐฯอาจมองถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานในแอพพลิเคชั่นนั้นด้วย ทั้งชื่อ อายุ เพศ และพฤติกรรมต่างๆที่โปรแกรมต่างๆได้เก็บรวบรวมไว้ ถือเป็นข้อมูลล้ำค่าที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในหลายด้านต่อไป
ดังที่เห็นมาแล้วจากข่าวหนังสือพิมพ์ต่างๆ เรื่องการลงประชามติ Brexit ที่บริษัท Cambridge Analytica ใช้ข้อมูลจาก Facebook ในการทำแคมเปญให้ฝั่ง Vote ออกจากสหภาพยุโรป และเป็นบริษัทเดียวกันที่ทำแคมเปญหาเสียงให้กับ ประธานาธิบดี Donald Trump ในช่วงเลือกตั้งครั้งก่อนอีกด้วย
จึงไม่น่าแปลกใจที่ทางสหรัฐฯ จะกังวลเรื่องข้อมูลของสหรัฐฯ อาจรั่วไหลและมองเป็นหนึ่งในภัยความมั่นคง เพราะกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติจีน ให้พลเมืองหรือองค์กรต้อง “สนับสนุน ช่วยเหลือ ให้ความร่วมมือกับงานด้านข่าวกรองของประเทศ”
รวมถึงการที่ประเทศจีนมีการส่งแอพฯหรือบริการของจีนให้ใช้งานทั่วโลก แต่ปิดกั้นหรือจำกัด แอพฯ และเว็บไซต์ต่างชาติให้เข้ามาในประเทศจีน ทำให้อาจถูกมองว่าเป็นการส่งออก Software ทางเดียว เรื่องเทคโนโลยีจีนนี้จึงเป็นทั้งภัยด้านความมั่นคงและเรื่องสงครามการค้าที่ยังไม่จบดีอีกด้วย
ยิ่งมีอุปสรรค ยิ่งน่าสนใจ
แม้ว่านี่จะเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ทางจีนต้องเผชิญ ทั้งกรณีการ Ban Huawei หรือกรณี TIKTOK, Wechat แต่ SCB CIO มองว่ายิ่งทำให้อุตสาหกรรมนี้น่าสนใจมากขึ้น เพราะจะเป็นอีกปัจจัยให้ทางจีนเร่งพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง และลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างและพัฒนาระบบปฎิบัติการ OS ในมือถือ Smartphone ของตนเอง หรือการพัฒนาและผลิตชิ้นส่วนที่สำคัญเช่น CPU Chipset ต่างๆด้วยตนเอง และจะทำให้แต่ละประเทศพึ่งพาตัวเอง ส่งผลให้โลกเราเข้าสู่การเป็น Regionalisation เร็วขึ้นโดยเฉพาะในประเทศกลุ่มเอเชีย
การเติบโตของบริษัทเทคฯจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และดัชนีที่เกิดใหม่ต่าง ๆ ทั้ง Hang seng Tech index , STAR 50 index รวมถึงการที่ดัชนี Hang Seng มีการเพิ่มน้ำหนักหุ้นกลุ่มเหล่านี้มากขึ้น ส่งผลให้เรายังมองว่าการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยียังมีความน่าสนใจทั้งในระยะสั้น และระยะยาวต่อจากนี้ไป รวมไปถึงจะมีเม็ดเงินกองทุน Passive หรือ ETF จากที่ต่างๆทั่วโลกเข้ามาลงทุนในดัชนีเหล่านี้มากขึ้นไปอีกด้วย
ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าดัชนี NASDAQ จะไม่น่าสนใจเพราะอย่างไรสหรัฐฯก็ยังเป็นผู้นำในด้านเทคโนโลยี สำหรับนักลงทุนแล้วเราไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง แต่สามารถลงทุนทั้งในจีนและสหรัฐฯ ที่เป็นกลุ่มเทคโนโลยีเบอร์หนึ่งและเบอร์สองของโลกได้ เพราะในโลกของการลงทุนผู้ชนะหรือหุ้นที่ทำให้กำไรไม่จำเป็นต้องมีคนเดียวครับ