21 สิงหาคม 2563 : ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อรับฟังการนำเสนอข้อมูล แนวทางการศึกษาวิจัยและแผนการดำเนินงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านสุขภาพด้วยการประกันภัย ซึ่งจัดโดยสายกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพฯ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากฎหมาย รวบรวมข้อมูล รวมทั้งวิเคราะห์สภาพปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านสุขภาพ จากผู้แทน กระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อนำไปสู่การยกร่างกฎหมายเฉพาะประกันภัยสุขภาพ (ภาคสมัครใจ)
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า ระบบประกันภัยสุขภาพมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างหลักประกันด้านสุขภาพให้แก่ประชาชนและการบริหารจัดการด้านสุขภาพในระดับมหภาคของภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงาน คปภ. ได้ส่งเสริมให้มีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบสนองความต้องการและรองรับวิถีการใช้ชีวิตของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่น การประกันภัยที่สนับสนุนการรักษาสุขภาพ การประกันภัยที่รองรับสังคมผู้สูงอายุ Long-Term Care Product และ Remote Treatment รวมทั้งผลักดันการประกันภัยสุขภาพภาคเอกชน (Private Health Insurance) ให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการประกันภัยสุขภาพมากขึ้นในราคาที่เหมาะสม ด้วยการส่งเสริมความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ประกันภัยสุขภาพ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้เอาประกันภัย การร่วมมือกับบริษัทเอกชน ในกลุ่มธุรกิจ Value Chain ของสังคมผู้สูงอายุ
รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐานค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล การจัดทำแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ การนำระบบประกันภัยสุขภาพภาคเอกชนเสริมเติมสิทธิค่ารักษาพยาบาลให้กับระบบหลักประกันภัยสุขภาพ 3 ระบบหลัก คือระบบหลักประกันภัยสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
จากการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพในทุกมิติ ส่งผลทำให้เบี้ยประกันภัยสุขภาพ มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเห็นได้จากเบี้ยประกันภัยสุขภาพ (ประกันชีวิตและประกันวินาศภัย) ในปี 2561 มีเบี้ยประกันภัยรวมทั้งสิ้น 82,735,873,156.49 บาท เมื่อเทียบกับเบี้ยประกันภัยสุขภาพ (ประกันชีวิตและประกันวินาศภัย) ในปี 2562 มีเบี้ยประกันภัยรวมทั้งสิ้น 91,459,365,462.10 บาท เพิ่มขึ้น 8,723,492,305.61 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.54 และเมื่อเปรียบเทียบเบี้ยประกันภัยสุขภาพ (ประกันชีวิตและประกันวินาศภัย) ในไตรมาสแรกของปี 2562 มีเบี้ยประกันภัยรวมทั้งสิ้น 23,832,097,072.76 บาท กับไตรมาสแรกของปี 2563 มีเบี้ยประกันภัยรวมทั้งสิ้น 29,408,063,533.41 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 5,575,966,460.65 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 23.40
อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้ระบบประกันภัยมีบทบาทในการสนับสนุนระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องมีการพัฒนากฎหมายแม่บทที่เกี่ยวกับการประกันภัยสุขภาพ (ภาคสมัครใจ) หรือพระราชบัญญัติประกันภัยสุขภาพ (ภาคสมัครใจ) เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535
ดังนั้นผู้เอาประกันภัยจึงสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพเดี่ยว (stand - alone) ได้จากบริษัทประกันวินาศภัย แต่หากซื้อประกันภัยสุขภาพกับบริษัทประกันชีวิต จะต้องซื้อเป็นเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันชีวิตเท่านั้น ทำให้เกิดความลักลั่นของผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ ประชาชนเกิดความสับสน และเป็นข้อพิพาทร้องเรียนมายังสำนักงาน คปภ. อยู่เนือง ๆ ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยและเพิ่มประสิทธิภาพรวมถึงยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการประกันภัยสุขภาพอย่างครอบคลุมและยั่งยืน
สำนักงาน คปภ. จึงจัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านสุขภาพ ด้วยการประกันภัย เพื่อศึกษากฎหมายประกันภัยสุขภาพ รูปแบบการประกันภัยสุขภาพและมาตรการภาครัฐเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านสุขภาพของประเทศต่าง ๆ เช่น ไทย เดนมาร์ก ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และไต้หวัน เพื่อให้เห็นภาพรวมข้อดีข้อเสียของระบบประกันภัยสุขภาพ อันจะนำไปสู่การเสนอแนะแนวทางการจัดทำพระราชบัญญัติประกันภัยสุขภาพ (ภาคสมัครใจ) ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล ข้อกฎหมายในมิติต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การยกร่างพระราชบัญญัติประกันภัยสุขภาพ (ภาคสมัครใจ) ในครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยมีเครื่องมือเข้าไปเสริมระบบประกันสุขภาพภาคบังคับที่เป็นกลไกของรัฐ โดยกฎหมายเฉพาะฉบับนี้จะมีบทบาทหลัก 2 ประการ คือ ประการแรก ช่วยคุ้มครองสิทธิประโยชน์ประชาชนให้ได้รับประโยชน์จากระบบประกันภัยสุขภาพ (ภาคสมัครใจ) อย่างเป็นธรรม โดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ
ประการที่ 2 ช่วยส่งเสริมและพัฒนาระบบประกันสุขภาพให้เกิดประสิทธิภาพและเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีผู้สูงอายุ เนื่องจากปัจจุบัน โครงสร้างประชากรของประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้หน่วยงานภาครัฐมีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น โดยภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวนี้ มีผลกระทบทั้งในส่วนของประชาชนและรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบ
ทั้งนี้ผู้เอาประกันภัยรวมถึงผู้สูงอายุ อาจไม่ได้รับความคุ้มครองจากการประกันภัยสุขภาพอย่างครอบคลุมและเพียงพอ กฎหมายประกันภัยสุขภาพ (ภาคสมัครใจ) จึงมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านสุขภาพ คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและการบริหารจัดการด้านสุขภาพของประชาชนและภาครัฐ
“การจัดประชุมครั้งนี้ ถือเป็นการ Kickoff หรือจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การยกร่างพระราชบัญญัติประกันภัยสุขภาพ (ภาคสมัครใจ) โดยสำนักงาน คปภ. มีความมุ่งหวังว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ในการผลักดันให้ระบบประกันภัยร่วมเป็นกลไกในการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุข คุณภาพชีวิตของประชาชน และพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่ดีขึ้นต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย