WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันพฤหัสบดี ที่ 28 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
เศรษฐกิจไทยกระทะเหล็ก… ยังลื่นแม้เป็นรอย

17 สิงหาคม 2563 : ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า “เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว”

สภาพัฒน์รายงาน GDP ไตรมาสสองหดตัวราว 12.2% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัว 9.7% เทียบไตรมาสก่อนหน้าหลังปรับฤดูกาล (seasonal adjustment) ซึ่งปัจจัยที่กดดันให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ก็มาจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้หลายประเทศรวมทั้งไทยมีการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อระงับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และมีผลให้คนขาดรายได้ จึงกระทบการบริโภค การผลิต และการส่งออก มีเพียงการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

อีกทั้งเราไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงไตรมาสที่สองจึงยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยขาดรายได้หนักขึ้นไปอีก เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้กำลังซื้อคนในประเทศจะอ่อนแอ จากหนี้ครัวเรือนที่สูง รายได้ภาคเกษตรที่ตกต่ำยาวนาน ธุรกิจขนาดกลางและเล็กอ่อนแอ แต่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวเพราะมีแรงขับเคลื่อนจากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ

มองต่อไปข้างหน้า เมื่อหลายประเทศเริ่มเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะเริ่มมีการสั่งซื้อสินค้าจากไทยมากขึ้น การส่งออกน่าจะดีขึ้น แม้จะติดลบ แต่น่าจะติดลบน้อยลง โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร และสินค้าเกษตรน่าจะขยายตัวได้เร็วกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนที่อาจฟื้นตัวช้าจากกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่างประเทศที่ยังคงอ่อนแอ การผลิตในภาคส่วนต่างๆ เริ่มมีกำลังการผลิตที่ดีขึ้น การจ้างงานและการขยายชั่วโมงการทำงานจะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอาจฟื้นตัวช้า แม้นักท่องเที่ยวในประเทศจะเพิ่มขึ้น แต่ไม่อาจชดเชยการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ และอาจกระจุกตัวในจังหวัดรอบๆ กรุงเทพมากกว่าจังหวัดท่องเที่ยวในภูมิภาคอื่น

ผมจึงมองว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังน่าจะขยายตัวแบบช้าๆ เทียบไตรมาสที่สอง แต่ยังคงหดตัวได้ราวร้อยละ 10 เทียบครึ่งปีหลังปีก่อน โดยผมจะปรับมุมมองเศรษฐกิจไทยปีนี้ว่าจะหดตัวร้อยละ 8.9 จากปีที่แล้วอย่างที่คาดไว้ก่อนหน้าหรือไม่ โดยจะขอรอดูตัวเลขเดือนกรกฎาคม และนโยบายเศรษฐกิจประกอบ อีกทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการประท้วงก็นับเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ต้องให้น้ำหนัก

Teflon Thailand – เศรษฐกิจกระทะเหล็ก

การเมืองมีผลต่อเศรษฐกิจ ผ่านความเชื่อมั่นผู้ลงทุนและผู้บริโภค เมื่อมีความไม่แน่นอนหรือการเปลี่ยนแปลง โดยมากแล้วคนจะชะลอการลงทุนหรือซื้อสินทรัพย์ที่มีราคาแพงที่ต้องใช้เวลาในการผ่อนชำระหนี้ เช่น บ้านและรถยนต์ แม้ในอดีต ช่วงที่ประเทศไทยมีปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น การประท้วง การรัฐประหาร และการเลือกตั้ง เศรษฐกิจไทยไม่ได้รับผลลบมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีการกระจายตัวในหลากหลายอุตสาหกรรม และมีเมืองเศรษฐกิจและท่องเที่ยวในภูมิภาคต่างๆ ที่ช่วยลดผลกระทบจากความวุ่นวายทางการเมืองในกรุงเทพ เสมือนสารเทฟล่อนที่ช่วยเคลือบกระทะ ทำให้เวลามีความไม่แน่นอนต่างๆ เศรษฐกิจไทยไม่สะดุด วารสารดิอิโคโนมิสต์จึงเคยเรียกเราว่า เทฟล่อนไทยแลนด์ เมื่อราวสิบกว่าปีก่อน

เวลาผ่านไปเนิ่นนานถึงวันนี้ สารเทฟล่อนจะยังใช้การได้ดีหรือจะเริ่มเสื่อมถอย โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบรุนแรงจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ผมมองว่าสารเทฟล่อนยังใช้การได้ แม้อาจไม่มีประสิทธิภาพเหมือนก่อน เหมือนกระทะที่เรายังใช้กันแม้จะเก่าและเป็นรอย นั่นเพราะผมเชื่อในการปรับตัวของเอกชนไทย เวลาเราเกิดวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือการเมือง เราจะหาทางรอดได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการขยายการลงทุนไปต่างประเทศ การปรับรูปแบบการขายออนไลน์ การหางานใหม่ๆ ทำ หรือทำงานหลากหลายอย่างเพื่อรองรับความเสี่ยง

ซึ่งรอบนี้อาจยากลำบากและเต็มไปด้วยความท้าทายมากกว่าในอดีต เพราะขาดปัจจัยสนับสนุนจากกำลังซื้อต่างประเทศ เพราะแต่ละประเทศก็เข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจจากเชื้อโควิดด้วยกันทั้งนั้น และขาดแรงช่วยจากภาคเกษตรเพราะปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตตกต่ำ กำลังซื้อขาดหาย แต่เราก็ยังไม่ถึงทางตัน เพราะเรายังมีการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นตัวพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวแรงได้อยู่ ซึ่งหากหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นชนเพดาน ผมก็เชื่อว่าเรามีความสามารถในการบริหารจัดการกฎระเบียบนั้นได้ นอกจากนั้น เรายังมีธนาคารแห่งประเทศไทยที่พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ผมมองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีคนที่มีกำลังซื้ออยู่มาก โดยเฉพาะคนที่มีรายได้ระดับกลางขึ้นไป เห็นได้จากสภาพคล่องในระบบการเงินยังมีมาก เงินออมยังเพิ่มขึ้น แต่ที่ไม่นำมาใช้จ่ายบริโภคหรือลงทุนเพราะขาดความเชื่อมั่น ผมมองว่าสารที่จะช่วยชดเชยสารเทฟล่อนที่เสื่อมลงน่าจะเป็นความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจหรือมาตรการดึงเงินจากคนชั้นกลางขึ้นไปให้มาช่วยพยุงเศรษฐกิจได้

ความวุ่นวายทางการเมืองมีผลต่อเศรษฐกิจรุนแรงเพียงไร

ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลยหากเราจะมองสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงไตรมาสที่สามนี้ ซึ่งข่าวสารที่ออกหรือการเผยแพร่ในโลกออนไลน์ล้วนไม่เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนและผู้บริโภคในระยะสั้น และหากมีความวุ่นวายหรือการคุกคามมากขึ้น ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนคือ คนจะระมัดระวังการใช้จ่ายและการเดินทางไปสถานที่แหล่งชุมชน อุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบ ได้แก่ โรงแรม ธุรกิจอีเวนท์ ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ตัวแทนจำหน่ายรถมอเตอร์ไซต์ ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจขนส่ง (อาจจำกัดเพียงขนส่งคน แต่ขนส่งสินค้ายังพอไปได้) และหากปัญหาบานปลายรุนแรงขึ้น ก็อาจกระทบต่อภาคการผลิตที่อาจลดชั่วโมงการทำงานหรือเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งธุรกิจกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม โกดังสินค้าให้เช่า หรือห้องเช่าประเภทอพาร์ทเมนท์ตามนิคมอุตสาหกรรมก็อาจได้รับผลกระทบได้ ปัญหาหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินก็จะตามมา และลามไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจที่โตช้าลากยาว แม้อาจไม่ทรุดเป็นจุดต่ำสุดใหม่ แต่ก็อาจทำให้เราโตช้ากว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า นอกจากนี้ คนในสังคมขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมเนื่องจากยังเคลือบแคลงและไม่ได้รับความชัดเจนในการพิจารณาคดี โดยเฉพาะหลายกรณีที่ผู้มีฐานะในสังคมมักพ้นผิดทางกฏหมาย อาจกระทบต่อการเข้ามาลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ

หากเศรษฐกิจสามารถปรับตัวหรือมีการกระจายตัวได้อย่างเทฟล่อนไทยแลนด์ เศรษฐกิจก็อาจจะยังคงประคองตัวอยู่ได้นะครับ และอยากให้เราใจเย็นๆ ก่อนนะครับ เพราะการประท้วงหรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้อาจไม่รุนแรงและอยู่ในขอบเขต ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่มาก เพราะผมเชื่อว่าแต่ละคนจะเข้าใจสถานการณ์และปรับตัวได้ และท้ายสุด มาตรการทางการเงินและการคลังก็จะออกมารองรับและประคองเศรษฐกิจได้ เช่น การลดภาษีบุคคลธรรมดาเพื่อสร้างกำลังซื้อให้กับคนชั้นกลางประเภทมนุษย์เงินเดือน การใช้จ่ายภาครัฐทั้งเงินโอนประเภทใหม่และการก่อสร้าง การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การลดการเก็บเงินเข้าใช้หนี้กองทุนฟื้นฟู (FIDF) การออกมาตรการผ่อนปรนทุนเคลื่อนย้ายเพื่อช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าเทียบสกุลอื่นในภูมิภาค

ในเรื่องค่าเงินบาทในช่วงมีปัญหาทางการเมืองนั้น ผมมองว่า ยิ่งประท้วงบาทยิ่งแข็ง ซึ่งฟังดูย้อนแย้งความรู้สึกก็จริงครับ เพราะคนมักคิดว่าเมื่อมีความไม่แน่นอนทางการเมือง เงินทุนน่าจะไหลออก บาทน่าจะอ่อนค่า อาจใช่ครับ แต่ปกติจะเป็นลักษณะตกใจชั่วคราว ขายหุ้นขายบอนด์ บาทอ่อนสัก 1-2 วันก็จบรอบ แต่ถ้าความไม่แน่นอนลากยาวขึ้น ภาพจะเปลี่ยน เราจะเกินดุลการค้ามากขึ้นซึ่งส่งผลให้บาทแข็ง ทำไมน่ะหรือ? ผู้ส่งออกไม่ได้ผลกระทบมากนัก ยังส่งออกสินค้าเดิมๆตามภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งตอนนี้ก็หดตัวต่อเนื่องตามกำลังซื้อที่อ่อนแอและตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก

ส่วนการนำเข้าจะหดตัวแรงจากการลดการนำเข้าสินค้าทุน เพราะคนไม่มั่นใจ จึงหยุดลงทุน การนำเข้าจะลดแรงกว่าการส่งออก เกิดดุลการค้าแบบแปลกๆ ส่งผลให้บาทแข็ง นั่นเพราะความต้องการบาทจากผู้ส่งออก มีมากกว่าความต้องการดอลลาร์จากผู้นำเข้า ทางแก้บาทแข็งคือหาทางสร้างสมดุลให้เงินไหลออก พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้คนลงทุนในศักยภาพเศรษฐกิจไทยในระยะยาวที่ต้องมองข้ามความไม่แน่นอนทางการเมืองในระยะสั้นนี้

กล่าวโดยสรุป ต่อให้มีปัญหาทางการเมืองรุนแรง ก็เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยยังมีเทฟล่อนอยู่ มีการปรับตัวหรือกระจายตัว โดยมีมาตรการ/นโยบายการเงินการคลังเข้ามารองรับและประคองเศรษฐกิจ เศรษฐกิจไทยจีงไม่น่าจะหดตัวแรงดังเช่น Q2 แต่อาจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP