WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอาทิตย์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
เมื่อ”ค่าเงินบาท” เริ่มแข็งค่า ขณะที่หุ้นไทยเผชิญแรงขาย

17 สิงหาคม 2563 : ช่วงนี้นอกจากราคาทองคำจะร้อนแรงผันผวน ด้านค่าเงินบาทก็ร้อนแรงไม่เบา ยิ่งราคาทองแพงเท่าไหร่ค่าเงินบาทก็สะท้อนกลับมามากเท่านั้น นอกจากราคาทองคำจะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทแล้ว สถานการณ์ภายนอกประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ก็เป็นอีกตัวแปลต่อค่าเงินของเราไม่น้อย ทั้งเรื่องของเงินดอลลาร์ฯ ที่อ่อนค่าลง ขณะที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนก่อนกำหนดการหารือความคืบหน้าของการดำเนินการตามข้อตกลงการค้าเฟสแรก ก็เป็นอีกปัจจัยที่ยังต้องจับตามอง แล้วค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ (17-21ส.ค.2563) จะเป็นแบบไหน

ผู้เชี่ยวชาญการลงทุน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ระบุว่า ค่าเงินบาทในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (10-14 ส.ค.2563) แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงท่ามกลางสัญญาณตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนก่อนกำหนดการหารือความคืบหน้าของการดำเนินการตามข้อตกลงการค้าเฟสแรก

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขายจากความไม่แน่นอนของบทสรุปของมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ของสหรัฐฯ ซึ่งทำเนียบขาว และสภาคองเกรสยังมีจุดยืนที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงบวกลงในช่วงปลายสัปดาห์ขณะที่ตลาดรอติดตามท่าทีระหว่างสหรัฐฯ-จีน และการประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2563 ของไทยในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอาจหดตัวลงในอัตราตัวเลขสองหลัก ทั้งนี้ ในวันศุกร์ (14 ส.ค.2563) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.13 เทียบกับระดับ 31.15 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (7 ส.ค.2563)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (17-21 ส.ค.2563) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.80-31.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/2563 ของไทย ท่าทีระหว่างสหรัฐฯ และจีนหลังการเจรจาเรื่องความคืบหน้าตามข้อตกลงเฟสแรก และสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก และผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเดือนส.ค. ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน/การอนุญาตก่อสร้าง และยอดขายบ้านมือสองเดือนก.ค. นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามบันทึกการประชุมเฟดเมื่อเดือนก.ค. และดัชนี PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนส.ค. ของหลายประเทศชั้นนำด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ในฝั่งของตลาดหุ้นไทย ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (10-14 ส.ค.2563) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า หุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนเกือบตลอดสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,327.05 จุด เพิ่มขึ้น 0.20% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 61,316.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.70% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.57% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 307.71 จุด หุ้นไทยย่อตัวลงเล็กน้อยช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบัน ก่อนจะดีดตัวขึ้นในเวลาต่อมา ท่ามกลางความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐฯ

ประกอบกับมีรายงานข่าวเชิงบวกเกี่ยวกับการทดลองวัคซีนโควิด-19 ซึ่งหนุนการปรับตัวขึ้นของหุ้นหลายกลุ่ม โดยเฉพาะธนาคารและขนส่ง อย่างไรก็ดี ดัชนีฯ ปรับตัวลงในช่วงปลายสัปดาห์ จากความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมถึงสัญญาณระมัดระวังก่อนการเจรจาระหว่างผู้แทนการค้าสหรัฐฯ-จีน

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (17-21 ส.ค.2563) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,310 และ 1,300 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,335 และ 1,350 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/63 ของไทย ประเด็นการเมืองในประเทศ สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงสถานการณ์ภายหลังการหารือร่วมกันระหว่างผู้แทนเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ

ได้แก่ บันทึกการประชุมเฟด ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน และยอดขายบ้านมือสองเดือนก.ค. รวมถึงดัชนี PMI Composite เดือนส.ค. (เบื้องต้น) ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 2/63 ของญี่ปุ่น รวมถึงดัชนี PMI Composite เดือนส.ค. (เบื้องต้น) ของยูโรโซนและญี่ปุ่น

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP