กรุงเทพฯ 4 สิงหาคม 2563 : นายกมลภู ภูริดิฐสกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริหารธุรกิจไมโครไฟแนนซ์และสาขาสินเชื่อ ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ชีวิตคนค้าขายได้รับความเดือดร้อน หลายคนเกือบจะต้องปิดแผง ปิดร้านจากการล็อคดาวน์และปิดตลาดไปหลายเดือน จากการสำรวจของธนาคารในช่วงเดือนมีนาคม 2563 พบว่า ธุรกิจรายย่อยนาโนและไมโคร 93% จาก 1,800 รายที่ทำการสำรวจทั่วประเทศ ยอมรับว่าได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงธุรกิจอาหารที่ได้รับอนุญาตให้เปิดขายได้ก็มีรายได้น้อยลงเช่นกัน
แม้สถานการณ์จะดูเหมือนคลี่คลายบ้างแล้วในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีการเฝ้าจับตาการเกิดระลอกสอง และเศรษฐกิจก็ยังช้ำลากยาวถึงปีหน้า ทำให้คนยังกำเงิน ซื้อขายน้อยลงอยู่ เพื่อเป็นการกระตุ้นและเพิ่มรายได้ให้กับพ่อค้าแม่ค้าในสภาวะที่ไม่แน่นอนนี้ ธนาคารจึงได้เปิดช่องทางโปรโมตร้านค้าทางเพจเฟซบุ๊กของธนาคารให้พ่อค้าแม่ค้าฟรีตั้งแต่เกิดสถานการณ์จนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ แนะนำร้านลูกค้าให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งในเพจจะมีการลงรูป ชื่อและที่ตั้งร้าน พร้อมเบอร์ติดต่อและช่องทางโซเชียล เพื่อให้ผู้บริโภคในพื้นที่ที่สนใจสามารถสั่งอาหาร หรือสั่งเดลิเวอรี่ได้”
ด้านแม่ค้าอย่าง นุชสรา ฉิมทิม หรือ เจ้นุช เจ้าของร้านครัวเรา ณ ตลาดชุมชนหนองตม จังหวัดพิษณุโลก เผยว่า “ช่วง 3-4 เดือนก่อนหน้านี้ รายได้ต่อวันหดหายไปเกินครึ่ง ร้านไม่ได้ปิด แต่ขายได้เฉพาะสั่งกลับและเดลิเวอรี่ เพราะไม่สามารถให้คนนั่งทานที่ร้านได้ ก็พยายามปรับตัวและไม่ลงทุนเยอะ ตอนนี้เริ่มค้าขายได้บ้าง รายได้เริ่มกลับมา แต่ยังแค่ 60-70% ไม่เต็มร้อยหากเทียบกับก่อนเกิดโรค หลังจากร้านเราได้โปรโมตผ่านเพจเฟซบุ๊กของธนาคารไทยเครดิต ก็มีลูกค้าติดต่อเข้ามาบ้าง พอช่วยให้มียอดขายเพิ่มขึ้นมาหน่อย”
ด้าน คำแวง น้อยคูณ เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวบุญชู 1 ตลาดเทศบาลเมืองพล จังหวัดขอนแก่น เผยว่า “ช่วงก่อนหน้านี้ก็ต้องดิ้นรนเอาตัวรอด อาหารพอขายได้ แต่ก็ขายได้แค่เดลิเวอรี่ หรือสั่งกลับ ทางร้านก็มีบริการส่งฟรีในเขตเทศบาลด้วย เมื่อสั่งขั้นต่ำ 5 ถุง อยู่นิ่งไม่ได้ เพราะรายจ่ายก็มี ต้องขอบคุณธนาคารที่ช่วยโปรโมตร้าน ในสภาวะแบบนี้ก็ต้องปรับตัว เพื่อให้มียอดขาย ปกติก็เปิดสั่งซื้อเดลิเวอรี่อยู่แล้ว แต่ต่อไปคงต้องทำมากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงคนบริโภคด้วย”
“สถานการณ์นี้ยังไม่จบ และทุกคนคงต้องปรับตัว การฝากร้านค้าในเพจของธนาคารไม่ได้หวังให้ลูกค้าได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ แต่เป็นการกระตุ้นให้ลูกค้าธนาคารปรับตัวปรับธุรกิจให้เท่าทันสถานการณ์และใช้เทคโนโลยีให้เป็นในยุคดิจิทัล เพื่อสร้างยอดขาย เพิ่มช่องทางการขายและต่อยอดธุรกิจ ซึ่งเป็นหนึ่งในเนื้อหาที่ธนาคารจัดฝึกอบรมทางการเงินและการรับมือกับโลกยุคดิจิทัล ภายใต้โครงการ “พ่อค้าแม่ค้าพากเพียร” อยู่แล้ว เพราะการมีหน้าร้านอย่างเดียวคงไม่เพียงพอสำหรับการทำธุรกิจในปัจจุบัน” นายกมลภูกล่าวปิดท้าย