WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันศุกร์ ที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
ธ.ก.ส. จับมือ NIA หนุนสินเชื่อไร้ดอกเบี้ย 3 ปี สินค้าเกษตรให้กับธุรกิจชุมชน

20 กรกฎาคม 2563 :  นายสุรชัย รัศมี รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงความร่วมมือกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) ว่าด้วย “ความร่วมมือด้านการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรม” ในการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตและผลักดันธุรกิจด้านนวัตกรรมทางการเกษตร ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างความมั่นคงด้านอาหาร และความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ อันนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและพัฒนาภาคเกษตรไทย อย่างยั่งยืน

โดยแนวทางความร่วมมือจะเน้นพัฒนาหลักสูตรการบ่มเพาะธุรกิจชุมชน ที่สามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร เพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร สร้างการเปลี่ยนแปลงจากเกษตรดั้งเดิมสู่เกษตรสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต สอดคล้องกับนโยบายเกษตร 4.0 และการขับเคลื่อนด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “BCG” คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. พร้อมให้การสนับสนุนสินเชื่อภายใต้โครงการ “นวัตกรรมดี...ไม่มีดอกเบี้ย” ให้กับผู้ประกอบการภาคเกษตรหรือผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมและ Startup นำไปใช้ในการพัฒนาต้นแบบหรือเทคโนโลยีที่สามารถนำไปสู่กระบวนการผลิตได้จริงหรือพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ สิทธิบัตรหรือเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิม ในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน MLR + 2% (ปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 4.875 ต่อปี) โดย NIA จะเป็นผู้สนับสนุนด้านดอกเบี้ยด้วยการชำระดอกเบี้ยแทนผู้ประกอบการธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการเป็นระยะเวลา 3 ปี วงเงินดอกเบี้ยสูงสุด ไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อโครงการอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ ธ.ก.ส.และ NIA ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจใน วงกว้างและเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมี 2 ตัวอย่างผู้ประกอบการ ได้แก่ 1) บริษัท นิธิฟู้ดส์ จำกัด โครงการ

สถาบันวิจัยรสชาติอาหาร บริการวิจัย พัฒนา และผลิตเครื่องปรุงรสครบวงจรด้วยวิธีการผลิตแบบ Cellular Manufacturing ซึ่งเป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านรูปแบบธุรกิจและบริการวิจัย พัฒนา และผลิตเครื่องปรุงรสแบบครบวงจร โดยการแบ่งปันทรัพยากรและความเชี่ยวชาญของบริษัท ได้แก่ นักวิจัย วัตถุดิบเครื่องเทศ และเครื่องจักรประกอบกับการใช้วิธีการผลิตแบบ Cellular Manufacturing ซึ่งเน้นการผลิตขนาดเล็ก แต่เร็ว และยืดหยุ่นสูง ทำให้สามารถวิจัย พัฒนา และผลิตเครื่องปรุงรสรสชาติใหม่ ๆ ได้ในราคาถูก รวดเร็ว สามารถขยายกำลังการผลิตได้ โดยรสชาติไม่ผิดเพี้ยน ช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการและลดความเสี่ยงให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี

และ 2) บริษัท ดำเนินฟู้ด จำกัด โครงการเครื่องบรรจุวุ้นมะพร้าวอินทรีย์แบบอัตโนมัติพร้อมอุโมงค์ลดอุณหภูมิแบบต่อเนื่อง ซึ่งเป็นนวัตกรรมระดับประเทศที่ใช้ระบบการดึงความร้อนผ่านตัวผลิตภัณฑ์ ที่สามารถลดอุณหภูมิจาก 80-90 องศาเซสเซียส เหลือ 50-55 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 10-20 นาที ซึ่งช่วยลดการเกิดฟองอากาศบริเวณผิวหน้าของวุ้น และเพิ่มกำลัง การผลิตได้ถึง 3 เท่าต่อวัน อีกทั้งยังใช้วัตถุดิบและส่วนผสมจากธรรมชาติ คือ ตัววุ้นผลิตจากสาหร่ายแดงและผงบุกผสมกับน้ำมะพร้าวอินทรีย์ เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และช่วยส่งเสริมการเพาะปลูกมะพร้าวอินทรีย์ให้แก่เกษตรกรชาวสวนมะพร้าว

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า สำหรับการขยายผลธุรกิจนวัตกรรมผ่านโครงการนวัตกรรมดี... ไม่มีดอกเบี้ยนั้น NIA จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนดอกเบี้ยเงินกู้แทนผู้ประกอบการนวัตกรรม ในวงเงินสนับสนุนดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อโครงการ ระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี และ ธ.ก.ส. จะเป็นผู้รับผิดชอบวงเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการนวัตกรรม เป็นการร่วมผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรมมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจในวงกว้างและเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ NIA และ ธ.ก.ส. ยังร่วมกันสร้างสะพานเชื่อมระหว่าง Startup ด้านการเกษตรกับเกษตรกร ทายาทเกษตรกร ผู้ประกอบการ SME และสถาบันเกษตรกร ให้เข้าถึงการรับรู้และสามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างโอกาสการขยายผลนวัตกรรมการเกษตรสู่การใช้งานจริงของเกษตรกรไทย ดังนั้น จะเห็นได้ว่าความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่เข้มแข็งในการพัฒนานวัตกรรมในภาคเกษตรของไทยให้ยืนอยู่ได้ในสถานการณ์โลกที่ผันแปร

ทั้งยังเป็นเครื่องมือและอาวุธสำคัญที่จะช่วยพลิกโฉมการเกษตรไทยให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และสร้างโอกาสการเป็นผู้นำในธุรกิจเกษตรระดับโลกในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อเปลี่ยนผ่านเกษตรกรไปสู่ Smart Farmer สอดคล้องกับนโยบายระดับชาติ และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือSEP to SDG ส่งผลให้เกิดการพลิกโฉมของการเกษตร (AgTech Transformation) ของประเทศได้อย่างยั่งยืน

เศรษฐกิจ ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP