# ทีเอ็มบีและธนชาต
จากสถานการณ์ COVID-19 ที่กำลังคลี่คลาย SME ต้องรับมือและก้าวข้ามไปอย่างแข็งแกร่งที่สุด โดยในการเสวนาออนไลน์ SME Exclusive Talk ที่จัดขึ้นเพื่อแบ่งปันประสบการณ์การรับมือและแผนในการก้าวต่อไปของ SME ได้ข้อสรุป 5 สิ่งที่เหล่าผู้ประกอบการ SME ต้องใช้ในการปรับตัวระหว่างสถานการณ์ รวมถึงใช้ในการวางแผนที่จะก้าวต่อไป
“5 สิ่งที่ SME ต้องคิด เพื่อก้าวต่อจาก COVID-19”
1) ปรับตัวให้ไวพร้อมรับทุกสถานการณ์
2) เพิ่มช่องทางการขาย กระจายความเสี่ยง
3) จริงใจต่อพนักงาน คู่ค้า และลูกค้า
4) คำนึงถึงเงินทุนหมุนเวียนสำรอง
5) มุมมองในเชิงบวก
1) ปรับตัวให้ไวพร้อมรับทุกสถานการณ์
แน่นอนว่าธุรกิจส่วนใหญ่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จะได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกันไปตามรูปแบบธุรกิจ แต่การปรับตัวให้ได้ในทุกสถานการณ์เป็นสิ่งที่สำคัญ โดยสามารถแบ่งได้เป็นการปรับตัวแบบระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้
การปรับตัวระยะสั้น ได้แก่ การนำวัตถุดิบที่มีมาแปรเปลี่ยนเป็นสินค้าที่เข้ากับสถานการณ์ เช่น การทำหน้ากากอนามัยผ้า การผลิตเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ทั้งนี้เพื่อให้ธุรกิจยังคงมีเงินหมุนเวียนในระบบและก้าวต่อไปได้ การเริ่มผันธุรกิจเข้าสู่วงการออนไลน์เป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการปรับเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ให้เข้ากับวิถี New Normal เช่น การปรับรูปแบบพื้นที่ร้านอาหาร หรือ ร้านค้า ตามมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ของภาครัฐ
การปรับตัวระยะยาว ได้แก่ การปรับรูปแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าที่เน้นด้านสุขอนามัย และสะดวกปลอดภัยต่อการจัดส่ง การออกแบบพื้นที่ภายในร้านค้าเพื่อให้ถูกต้องตามหลักอนามัย แต่ยังคงรองรับลูกค้าได้ในปริมาณใกล้เคียงกับช่วงเวลาก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมไปถึงการตั้งรับหากเกิดสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันอีกในอนาคต เพื่อให้สามารถวางแผนธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2) เพิ่มช่องทางการขาย กระจายความเสี่ยง
จากสถานการณ์ที่ผ่านมาพบว่า ธุรกิจที่มีช่องทางการขายทางเดียวหรือมีกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่มจะได้รับผลกระทบทางธุรกิจมากกว่ากลุ่มที่มีช่องทางการจัดจำหน่าย และกลุ่มลูกค้าที่หลากหลาย
ดังนั้น การเพิ่มช่องทางการค้า เช่น ช่องทางออนไลน์ก็สามารถช่วยธุรกิจได้อย่างมาก การศึกษาเรียนรู้ระบบออนไลน์จึงเข้ามามีบทบาทในธุรกิจเพื่อเพิ่มช่องทางการขาย รวมถึงสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ เพราะไม่ควรที่จะฝากความหวังทั้งหมดไว้กับลูกค้าเพียงกลุ่มเดียวอีกต่อไป
3) จริงใจต่อพนักงาน คู่ค้า และลูกค้า
จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พนักงานบริษัทอาจเริ่มมีความรู้สึกไม่มั่นคงในอาชีพ เจ้าของธุรกิจควรเปิดเผยสถานการณ์ของธุรกิจในส่วนที่พนักงานสามารถรับรู้ได้ เพื่อให้พนักงานเกิดความมั่นใจและรู้สึกมีส่วนร่วม ในหลายองค์กรพบว่า หากพนักงานทราบสถานการณ์ที่ธุรกิจกำลังเผชิญอยู่ จะมีความพร้อมที่ช่วยเหลือกันให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ ผ่านการโยกย้ายบทบาทงาน หรือการลดเวลาทำงาน เป็นต้น
สำหรับคู่ค้า ควรมีการสื่อสารเพื่อช่วยเหลือแบ่งเบากันในส่วนที่สามารถช่วยเหลือได้ หรือหากทราบว่าคู่ค้าไม่สามารถที่จะทำธุรกิจต่อไปได้ ควรเตรียมหาคู่ค้ารายอื่นเพื่อสำรองได้ทันการ
ในส่วนของลูกค้า หากสถานการณ์ส่งผลกระทบถึงการบริการ ซึ่งอาจจะล่าช้ากว่าปกติ หรือมีสิ่งที่ไม่เป็นไปตามที่ลูกค้าเคยได้รับ ผู้ประกอบการ SME จะต้องแจ้งลูกค้าเพื่อให้ได้รับทราบก่อนที่จะได้รับสินค้าและบริการ
4) คำนึงถึงเงินทุนหมุนเวียนสำรอง
อีกสิ่งหนึ่งที่ SME ควรคำนึงถึงเสมอ คือ การรักษาสภาพคล่องทางการเงินให้เพียงพอ เพื่อประคับประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นสถานการณ์ไปได้ รวมถึงเพื่อให้สามารถมีเงินหมุนเวียนสำหรับดำเนินกิจการต่อ
การวางแผนด้านเงินทุนหมุนเวียนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดย SME ควรต้องติดตามข่าวสารเพื่อให้สามารถหาแหล่งเงินทุนสำรองยามคับขัน ไม่ว่าจะเป็นจากนโยบายช่วยเหลือของภาครัฐ หรือผลิตภัณฑ์จากธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น
5) มุมมองเชิงบวก
สิ่งสำคัญที่สุดในสถานการณ์ลักษณะนี้ คือ มุมมองเชิงบวกของผู้ประกอบการ เพราะการคิดบวกเพื่อตั้งรับกับสถานการณ์ในเชิงรุก จะสามารถทำให้ธุรกิจข้ามผ่านอุปสรรคทั้งหลายได้ง่ายขึ้น
การปรับความท้าทายให้เป็นโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงทำสิ่งใหม่ ๆ แม้ว่าจะยากลำบาก แต่จิตใจที่เข้มแข็งของผู้ประกอบการจะสามารถพลิกมุมมองและดึงศักยภาพการบริหาร รวมถึงยังเป็นขวัญและกำลังใจให้พนักงานพร้อมเดินเคียงข้างไปด้วยกัน
หากมองหาข้อดีเชิงบวกจากสถานการณ์ ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีเพื่อเตรียมระบบหลังบ้านให้พร้อมอีกครั้ง สามารถมองเห็นโอกาสใหม่ ๆ หรือแม้แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะชั่วข้ามคืน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้ธุรกิจ SME ดำเนินต่อได้อย่างมั่นคงขึ้น ไม่ว่าจะพบกับสถานการณ์ใดในอนาคตก็ตาม