18 มิถุนายน 2563 : นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยถึงมุมมองและทิศทางของธุรกิจประกันชีวิตหลังโควิด-19 ระบาดว่า ธุรกิจประกันชีวิตประสบกับความท้าทายครั้งใหญ่มาโดยตลอด ซึ่งปัจจัยหลักคงหนีไม่พ้นเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ดอกเบี้ยลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์ ผลตอบแทนจากการลงทุนลดลง ตามติดมาด้วยวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซ้ำเติมให้เศรษฐกิจโลกทรุดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ 4 เดือนแรกของปี 63 (มกราคม- เมษายน 2563) ธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันภัยรับรวมจำนวน 189,380.48 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ -1.24 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา
โดยแยกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรับรายใหม่ (New Business Premium) จำนวน 50,942.06 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.69 ประกอบด้วย เบี้ยประกันชีวิตรับปีแรก (First Year Premium) จำนวน 33,217.30 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.24 เบี้ยประกันชีวิตรับจ่ายครั้งเดียว (Single Premium) จำนวน 17,724.76 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ -7.30 และเบี้ยประกันชีวิตรับปีต่ออายุ (Renewal Premium) จำนวน 138,438.42 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ -2.27 และมีอัตราความคงอยู่ 80
ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงได้ปรับคาดการณ์การเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตในปี 2563 จะลดลง – 2% ถึง -5% ด้วยเบี้ยประกันภัยรับรวม 598,695.82 – 580,368.40 ล้านบาท ซึ่งสอดรับกับจีดีพีของประเทศที่ปรับลดลงเหลือ -5.3% เช่นกัน
ทั้งนี้ จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ธุรกิจประกันชีวิตได้ทยอยปรับตัวเป็น Digital Insurer มากขึ้น มีการลงทุนในเทคโนโลยีด้วยเม็ดเงินจำนวนมาก เพื่อนำดิจิทัลเข้ามาสนับสนุนการทำงานในทุกช่องทาง โดยมีวิกฤตโควิด-19 เป็นตัวเร่งพฤติกรรมวิถีใหม่ หรือ New Normal หลายคนต้องยอมรับดิจิทัลและการออนไลน์โดยปริยาย พนักงานประจำบางส่วนสามารถทำงานที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มรูปแบบเสมือนทำงานที่บริษัท มีการติดตามงาน ประชุมผ่านเครื่องมืออุปกรณ์ เครือข่ายดิจิทัลรวมถึงยังคงให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องผ่านลูกค้าสัมพันธ์ Call Center ผ่านช่องทางดิจิทัลในรูปแบบแพลตฟอร์มต่าง ๆ ลูกค้าสามารถชำระเบี้ยประกันภัยผ่านแอพพลิเคชั่น ติดต่อบริษัทได้โดยตรงอย่างสะดวกและรวดเร็ว
ซึ่งการปรับตัวครั้งนี้ไม่เว้นแม้กระทั่งช่องทางการขายผ่านตัวแทนประกันชีวิต โดยได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในการออกออกประกาศการขายประกันเฉพาะกิจ Digital Face to Face ผู้เสนอขายสามารถเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดย เสียง และ/หรือภาพ กับลูกค้าได้ ดังนั้นตัวแทนในวันนี้ จึงสามารถขายผ่านการใช้โทรศัพท์ แอพพลิเคชั่นไลน์ หรือการประชุมผ่านจอภาพกับลูกค้าแล้วขออนุญาตลูกค้าในการบันทึกภาพและเสียงเพื่อส่งให้บริษัท จากนั้นบริษัทจะทำการโทรศัพท์ขอคำยืนยันการทำประกันชีวิตกับลูกค้าร่วมด้วย
ในทำนองเดียวกันธุรกิจได้มีการปรับแต่งระบบการให้บริการผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้มีความเชื่อมโยง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในเรื่องของการวิเคราะห์วิจัยข้อมูลความต้องการของลูกค้า การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI),การออกกรมธรรม์ออนไลน์ (e-policy),การเรียกร้องสินไหมทดแทน (e-claim) ต่าง ๆ เพื่อลูกค้าได้รับบริการที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น
ส่วนการปรับตัวด้านผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตนั้น ธุรกิจได้ทยอยปรับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทออมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง มีการการันตีผลตอบแทนออกจากตลาด เหตุปัจจัยเสี่ยงจากภาวะดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ภาคธุรกิจหาผลตอบแทนให้ลูกค้าได้ยากขึ้น แนวโน้มผลิตภัณฑ์นับจากนี้จึงเป็นผลิตภัณฑ์ควบการลงทุน Universal Life , Unit Linked , หรือ Participating Policy โดยเน้นการลงทุนตามความเสี่ยงที่ผู้เอาประกันภัยยอมรับได้ รวมถึงผลักดันผลิตภัณฑ์ที่ให้ความคุ้มครองประเภทประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุซึ่งเบี้ยประกันภัยไม่แพง
และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนตระหนักและให้ความสำคัญกับการประกันสุขภาพมากขึ้น นับเป็นข้อดีของการวางแผนสุขภาพก่อนการเจ็บป่วย ธุรกิจจึงได้มีการปรับผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพให้หลากหลายตรงกับความต้องการของลูกค้าเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตามอัตราการเสียชีวิตจากการโรคไวรัสโควิด-19 นั้นน้อยมากเมื่อเทียบกับสถิติที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด เช่น โรคมะเร็งที่เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 215 คน หรือ 78,540 คนต่อปี โรคหัวใจที่เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 57 คน และเสียชีวิต 20,746 คนต่อปี หรือโรคร้ายอื่น ๆ
สำหรับประชาชนที่มีประกันสุขภาพอยู่แล้วขอให้ตรวจสอบว่ากรมธรรม์นั้นยังไม่ขาดผลบังคับเพื่อความมั่นใจว่ากรมธรรม์เดิมของท่านจะยังคงได้รับความคุ้มครองทั้งโควิด-19 และโรคอื่น ๆ ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ นายกสมาคมฯ กล่าวในตอนท้าย