15 มิถุนายน 2563 : นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า โครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชน เพื่อการมีน้ำใช้อย่างสมดุลและยั่งยืน ในพื้นที่ตำบลดูกอึ่ง และ ตำบลเด่นราษฎร์ อำเภอหนองฮี จังหวัดร้อยเอ็ด นี้ เกิดขึ้นจากการที่สมาคมประกันวินาศภัยไทยเล็งเห็นว่า การเกิดภัยธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งหรือภัยน้ำท่วม นั้นเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยที่ประชาชนทั่วทุกภาคต้องประสบกับปัญหาเช่นนี้ทุกปี และนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของพี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างมาก
ทั้งเรื่องของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในกระบวนการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร ตลอดจนการขาดรายได้จากการประกอบอาชีพ แม้ว่าการประกันภัยข้าวนาปี การประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ จะมีบทบาทสำคัญในการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นให้กับเกษตรกรได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็ถือเป็นการช่วยบรรเทาความเสียหายที่ปลายเหตุ
“ด้วยเหตุนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทยจึงมีแนวคิดในการดำเนินโครงการช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรที่ประสบปัญหาทางการเกษตรเนื่องจากภัยแล้งและน้ำท่วมให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการขับเคลื่อนร่วมกับชุมชน สร้างการมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งและภัยน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน จึงได้ศึกษาข้อมูลในการช่วยเหลือโดยใช้แนวทางการบริหารจัดการน้ำตามแนวคิดของ ธนาคารน้ำใต้ดิน” และได้รับความกรุณาจากพระนิเทศศาสนคุณ หรือหลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ ประธานสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ และประธานมูลนิธิสิริปัญโญ ได้อนุญาตให้สถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ จัดทำโครงการช่วยเหลือสังคมในรูปแบบของการพัฒนาแหล่งน้ำในชุมชนด้วยระบบธนาคารน้ำใต้ดิน ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย
โดยใช้องค์ความรู้ของท่านในการวางแผนตลอดจนดำเนินการขุดบ่อน้ำที่ถูกต้องตามหลักการธนาคารน้ำใต้ดิน ภายใต้ชื่อ “โครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชน เพื่อการมีน้ำใช้อย่างสมดุลและยั่งยืน” และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำธนาคารน้ำใต้ดิน โดยได้คัดเลือกพื้นที่ในตำบลดูกอึ่ง และตำบลเด่นราษฎร์ อำเภอหนองฮี จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ที่มีความแห้งแล้งและประสบกับภาวะน้ำท่วมซ้ำซาก เป็นพื้นที่นำร่องในการทำธนาคารน้ำใต้ดินที่สมบูรณ์แบบแห่งหนึ่งของไทย และเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่น ๆ ได้
โครงการนี้มีขอบเขตพื้นที่ดำเนินการรวม 2 ตำบล 30 หมู่บ้าน มีประชากร 9,408 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 78,000 ไร่ ใช้งบประมาณจากกองทุนประกันภัยพืชผล จำนวน 18,920,000 บาท มีการขุดบ่อน้ำตามหลักการของธนาคารน้ำใต้ดินในโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 3,095 บ่อ โดยมีรูปแบบและขนาดบ่อต่าง ๆ ประกอบด้วย
1. การขุดบ่อเปิด ขนาดความกว้าง 40 เมตร ความยาว 40 เมตร ความลึก 7-12 เมตร จำนวน 25 บ่อ (ต.เด่นราษฎร์ จำนวน 9 บ่อ และ ต.ดูกอึ่ง จำนวน 16 บ่อ)
2. การขุดบ่อเปิด ขนาดความกว้าง 10 เมตร ความยาว 10 เมตร ความลึก 7-12 เมตร จำนวน 40 บ่อ (ต.เด่นราษฎร์ จำนวน 15 บ่อ และ ต.ดูกอึ่ง จำนวน 25 บ่อ)
3. การขุดบ่อทูอินวัน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เมตร ความลึก 7-12 เมตร จำนวน 30 บ่อ (ต.เด่นราษฎร์ จำนวน 13 บ่อ และ ต.ดูกอึ่ง จำนวน 17 บ่อ)
4. การขุดบ่อปิด โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ขนาดความกว้าง 1 เมตร ความยาว 1 เมตร ความลึก 1.5 เมตร ภายในบริเวณบ้านเรือนและพื้นที่ชุมชนทั้ง 2 ตำบล 30 หมู่บ้าน จำนวน 3,000 บ่อ
นายอานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานในโครงการนี้สมาคมฯ ได้ให้ความสำคัญต่อความต้องการ ของประชาชนในพื้นที่โดยได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้นำชุมชนพร้อมทั้งชี้แจงรายละเอียดโครงการเพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมให้กับตัวแทนประชาชนทั้ง 2 ตำบลในลักษณะของการทำประชาคมเพื่อให้มีมติเห็นชอบก่อนเริ่มดำเนินการ นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือด้วยดีจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และผู้นำชุมชนในพื้นที่ โดยโครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 เป็นต้นมา
ซึ่งโครงการได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ จึงขอส่งมอบบ่อน้ำโครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนเพื่อการมีน้ำใช้อย่างสมดุลและยั่งยืน (ธนาคารน้ำใต้ดิน) ในพื้นที่ตำบลดูกอึ่ง และตำบลเด่นราษฎร์ อำเภอหนองฮี จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 3,095 บ่อ ให้เป็นสาธารณประโยชน์ของชุมชน ตลอดจนมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยดูแลบำรุงรักษาต่อไป และขอให้โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน “หนองฮีโมเดล” นี้เป็นต้นแบบในการทำธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืนให้กับชุมชนอื่น ๆ ของประเทศต่อไป