9 มิถุนายน 2563 : นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา ทำให้หลายพื้นที่ประสบปัญหา ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร โดยมีพื้นที่ได้รับความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพของเกษตรกร นำไปสู่ปัญหาการก่อหนี้นอกระบบ ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. จึงได้จัดทำโครงการสนับสนุนสินเชื่อ เงื่อนไขและดอกเบี้ยผ่อนปรน จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย
1) สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันหรือฉุกเฉินจำเป็นในครัวเรือนของเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ประสบภัยในเขตพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เช่น ค่าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ค่าซ่อมแซมบ้านเรือน เครื่องมือ/อุปกรณ์การเกษตร เป็นต้น วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อปี ในช่วง 6 เดือนแรก และตั้งแต่เดือนที่ 7 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ย MRR (ร้อยละ 6.50 ต่อปี) กำหนดชำระคืนไม่เกิน 3 ปี นับจากวันกู้
2) สินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าลงทุนฟื้นฟูการผลิตที่ได้รับความเสียหาย หรือเป็นค่าลงทุนสร้างหรือซ่อมแซมโรงเรือนการเกษตร/เครื่องมือ/เครื่องจักรการเกษตร ที่ได้รับ ความเสียหาย ในเขตพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2 (ร้อยละ 4.50 ต่อปี) ชำระคืนไม่เกิน 15 ปี นับแต่วันกู้
3) สินเชื่อเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุนสนับสนุนในการจัดหา สร้าง/พัฒนา และปรับปรุงแหล่งน้ำไว้ใช้ในยามวิกฤต และลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง วงเงินกู้รายละไม่เกิน 200,000 บาท อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 – 2 ร้อยละ 0 ต่อปี และตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป คิดดอกเบี้ยในอัตรา MRR-2 (ร้อยละ 4.50 ต่อปี) ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ถึง 31 ธันวาคม 2563
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงวิกฤตภัยแล้งแล้วจำนวนกว่า 30,000 ราย จำนวนเงินกว่า 4,600 ล้านบาท ประกอบด้วย สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินฯ จำนวนเงิน 110 ล้านบาท เกษตรกร 2,315 ราย สินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตฯ จำนวนเงิน 3,766 ล้านบาท เกษตรกร 21,658 รายและสินเชื่อเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรฯ จำนวนเงิน 809 ล้านบาท เกษตรกร 6,123 ราย