2 มิถุนายน 2563 : นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า กลยุทธ์การลงทุนในช่วงดอกเบี้ยต่ำ สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย การลงทุนโดยการฝากเงินกับธนาคารและลงทุนผ่านพันธบัตรรัฐบาลยังเป็นช่องทางการลงทุนที่เหมาะสมในช่วงนี้ และโอกาสที่ภาครัฐจะออกพันธบัตรยังมีอยู่สูง ส่วนนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้มาก การเลือกลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ ยังคงต้องระวังต่อเนื่อง เพราะความผันผวนจากการลงทุนยังมีอยู่สูง
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิรไทย มองอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปีนี้ในเชิงบวก โดยไม่มีมุมมองในเรื่องการติดลดของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งล่าสุด ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ระดับ 0.50% จาก 0.75% ทำให้ธปท.ยังเหลืออัตราดอกเบี้ยเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเงินในการดูแลเศรษฐกิจได้อีก และไม่ถึงขั้นติดลบ ส่วนความเสี่ยงทางการเงินที่ผ่านมา ประชาชนหันมาออมเงินผ่านธนาคารพาณิชย์มากขึ้น โดยช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าเงินฝากถึง 5 แสนล้านบาท แม้ว่าผลตอบแทนจาก ดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำก็ตาม
นางสาวณัฐพร กล่าวอีกว่า แม้จีดีพีไตรมาสแรกของปีนี้ จะออกมาดีกว่าที่คาด แต่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่เหลือของปี คาดว่าจะให้ภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หดตัวลึกขึ้น และจากปัญหาการจ้างงาน ขณะที่เศรษฐกิจต่างประเทศก็ยังน่ากังวล ทั้งในประเด็นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังอยู่ในระดับสูง และประเด็นการเมืองของสหรัฐฯ ทั้งในและระหว่างประเทศ ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพิจารณาปรับลดประมาณการจีดีพีปี 2563 มาที่ -6%
ทั้งนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจำนวน 1,000 ตัวอย่าง สะท้อนให้เห็นถึงการรับรู้จากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในอนาคต มีการปรับพฤติกรรมในการเก็บออมและระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งตอกย้ำถึงการรับรู้ด้านการใช้จ่ายครัวเรือนที่หดตัวลงกว่าที่ประเมินไว้เดิม โดยในส่วนของภาครัฐนั้น ด้วยระดับหนี้สาธารณะระยะสั้นที่ยังไม่น่ากังวล ทำให้พอมีทรัพยากรทางคลังในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือและเยียวยาธุรกิจที่ประสบปัญหาในการฟื้นตัวหลังจากช่วงผ่อนคลายล็อกดาวน์นี้
นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจท่องเที่ยว รถยนต์ อสังหาริมทรัพย์ ถือเป็น 3 อุตสาหกรรมสำคัญที่คงต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าอุตสาหกรรมอื่น แต่หากมองจากมิติของการจ้างงาน ธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งมีแรงงานในห่วงโซ่มากถึง 4 ล้านคน จะเป็นธุรกิจที่ภาครัฐจะพุ่งเป้าหมายการเยียวยาไปที่ธุรกิจและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวเป็นอันดับต้น ๆ โดยต้องยอมรับว่าธุรกิจหลักของไทยอาจใช้เวลามากกว่า 1 ปีในการฟื้นตัวให้กลับสู่ระดับก่อนเกิดเหตุการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19
สำหรับนโยบายการเงินยังเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญ โดยหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเพิ่มเติม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ยังสามารถทำได้ แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันยังไม่ได้แย่ถึงกับมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบ