25 พฤษภาคม 2563 : รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ศรัญญู ชูศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ทีมแพทย์โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ประสบความสำเร็จในการใช้พลาสมาหรือน้ำเหลือง จากผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ที่ได้รับการรักษาหายแล้วนำไปรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการวิกฤติจนหายเป็นปกติ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของภาคใต้ โดยผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นเพศชาย ที่ถูกส่งตัวต่อมาจากจังหวัดนราธิวาส และได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสสูตรมาตรฐาน คือ ฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir) มาแล้ว 3 วันแต่อาการไม่ดีขึ้น
ทั้งนี้ หลังจากที่ส่งต่อมายังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ผู้ป่วยมีค่าออกซิเจนในเลือดและค่าหัวใจต่ำลง ภาวะหายใจล้มเหลว ต้องใส่ท่อหายใจ คณะแพทย์ผู้ทำการรักษาจึงพิจารณาให้การรักษาเสริม โดยใช้พลาสมาที่ได้รับบริจาคจากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโควิด-19 จากโรงพยาบาล โดยทีมแพทย์ได้ทำการรักษาให้พลาสมาครั้งละ 200 ซีซี จำนวน 2 ครั้ง และผลปรากฎว่าในระยะเวลา 3-4 วัน ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น โดยเฉพาะค่าการหายใจและค่าหัวใจดีขึ้น ภาวะการอักเสบต่างๆ ลดลง ค่าไวรัสที่คอหอยและในเสมหะมีปริมาณน้อยมากจนตรวจวัดไม่ได้ จนสามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้และอาการปอดอักเสบดีขึ้น จนปัจจุบันผู้ป่วยหายเป็นปกติ และสามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาแล้ว นับเป็นผู้ป่วยรายสุดท้ายของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.อ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาด้วยพลาสมาเป็นวิธีการรักษาทางเลือก ทีมแพทย์ต้องมีการศึกษาอย่างเป็นระบบ มีหลักการในการรักษา โดยต้องพิจารณาตามความเหมาะสม ซึ่งไม่ใช่ว่าผู้ป่วยโควิด-19 ทุกคน จะสามารถรักษาด้วยพลาสมาแล้วจะหายเป็นปกติได้ทุกราย ซึ่งตั้งแต่ที่มีการแพร่ระบาด ทางโรงพยาบาลได้ทำการรักษาผู้ป่วยโควิดไปแล้ว 30 ราย โดยส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นผู้ป่วยหรือคนไข้อาการวิกฤติ ส่วนผู้ป่วยที่รักษาหาย อยู่ระหว่างรอฟักฟื้น หรืออาการไม่หนักมากแล้ว จะถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สาขา 2 จังหวัดสงขลา
ปัจจุบัน มีผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับการรักษาหายเป็นปกติแล้ว ติดต่อมาเพื่อบริจาคพลาสมาหลายราย โดยสามารถบริจาคได้ที่คลังเลือด โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ซึ่งผู้บริจาคต้องได้รับการตรวจว่าไม่มีการติดเชื้อที่สามารถติดต่อทางการให้เลือด โดยบริจาคพลาสมาในแต่ละครั้ง ได้ในปริมาณ 400-600 ซีซี และสามารถบริจาคซ้ำได้อีกหากยังมีภูมิคุ้มกันเพียงพอ เพื่อเป็นการช่วยชีวิตผู้ป่วยให้ได้มีโอกาสการรักษาและรอดชีวิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย