21 พฤษภาคม 2563 : นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ผลกระทบจากสงครามการค้าและแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในปีที่ผ่านมา ต่อเนื่องมาในปีนี้ที่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วนต้องหยุดชะงักลง และอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติเช่นเดิม
ธนาคารพาณิชย์ตระหนักถึงผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจดังกล่าวต่อลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ ลูกค้าผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมไปถึงกลุ่มลูกค้าบุคคล ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ในฐานะตัวกลางทางการเงินที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย จึงได้ดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือกับลูกค้าของแต่ละธนาคาร ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย ตลอดจนให้ความร่วมมือกับโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้า และลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม
โครงการความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ของธนาคารพาณิชย์ ครอบคลุมลูกหนี้เกือบ 14 ล้านราย ซึ่งโครงการสำคัญที่ได้ดำเนินการแล้ว ได้แก่
การปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกค้าทุกกลุ่ม และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย อาทิ การขยายเวลาการชำระหนี้ให้กับลูกค้าผู้ประกอบการ การลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำสำหรับลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสดหมุนเวียน ตลอดจนการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าสินเชื่อส่วนบุคคลที่ผ่อนชำระเป็นงวด สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อเช่าซื้อ-ลีสซิ่ง สินเชื่อบ้าน ซึ่งได้ช่วยลูกค้าไปแล้วจำนวน 13.8 ล้านราย คิดเป็นยอดหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 6.12 ล้านล้านบาท
การปล่อยสินเชื่อ โครงการ บสย. SMEs สร้างไทย ตามมาตรการ ต่อเติม เสริมทุน SMEs สร้างไทย ให้แก่ลูกค้าไปแล้วจำนวน 1.4 หมื่นราย เป็นวงเงิน 3.4 หมื่นล้านบาท มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ผ่านธนาคารออมสิน ช่วยลูกค้าไปเป็นวงเงิน 5.5 หมื่นล้านบาท
ล่าสุด ธนาคารพาณิชย์ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการกระจายสินเชื่อภายใต้โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ของธนาคารแห่งประเทศไทย วงเงินโครงการทั้งสิ้น 500,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้าธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมไม่เกิน 500 ล้านบาท ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มโครงการฯ ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนเป็นต้นมา มีการอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 49,804 ล้านบาท สำหรับลูกหนี้ 28,722 ราย ในจำนวนนี้ เป็นผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็กมีสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2562 ไม่เกิน 20 ล้านบาท จำนวน 20,680 ราย รองลงมาเป็น SMEs ขนาดกลาง (วงเงินสินเชื่อ 20-100 ล้านบาท) และ SMEs ขนาดใหญ่ (วงเงินสินเชื่อ 100-500 ล้านบาท) จำนวน 5,880 ราย และ 2,162 รายตามลำดับ
ทั้งนี้ สินเชื่อโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย ยังอยู่ในช่วงเริ่มดำเนินโครงการ ทำให้ยอดสินเชื่อจะยังไม่สูงมาก แต่จะมีความคืบหน้าที่ชัดเจนมากขึ้นในระยะถัดไป ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ก็จะยังคงเดินหน้าโครงการและแนวทางให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้มั่นใจว่า ธนาคารพาณิชย์จะให้การดูแลลูกค้าทุกกลุ่มของธนาคารเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับบทบาทในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป