18 พฤษภาคม 2563 : เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่าน “บิตคอยน์ (Bitcoin)” ถูกกล่าวขานไม่น้อย เป็นสินทรัพย์ลงทุนรูปแบบใหม่ที่สามารถสร้างผลตอบแทนในระดับสูงมาก และผลตอบแทนดังกล่าวก็มีความเสี่ยงมากเช่นกัน ทำให้ผู้กำกับดูแลด้านการลงทุนต่างๆ ออกมาเตือนสตินักลงทุนอยู่บ่อยๆ จนท้ายที่สุดสินทรัพย์ลงทุนดังกล่าวก็ค่อยๆลดความหวือหวาลงไป แต่ไม่ใช่ไม่คนเล่นนะ เพียงแต่ผู้เล่นจะมีเฉพาะกลุ่มเท่านั้น
สำหรับ “บิตคอยน์” หลายคนทราบกันดีว่า บิตคอยน์ คือ เงินดิจิทัล ที่มีชื่อย่อว่า “BTC” เป็นหนึ่งในสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งมีหลายแบรนด์บนโลกนี้ แต่กระนั้น บิตคอยน์ ก็ยังไม่ได้ถูกรับรองว่าเป็นเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายโดยธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ก็มีประเทศอื่นอย่างเช่น ญี่ปุ่น ที่บิตคอยน์ใช้ชำระค่าสินค้าและบริการได้อย่างถูกกฎหมาย
บิตคอยน์ ถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของเทคโนโลยีบล็อกเชน เพราะรายการธุรกรรมต่างๆของบิตคอยน์จะถูกรวมอยู่ในกล่อง หรือ เรียกว่า Block เมื่อธุรกรรมได้รับการยืนยันความถูกต้องแล้ว กล่องนั้นจะถูกนำไปเรียงต่อจาก Block ก่อนหน้าเป็นสายโซ่ (Chain) ต่อๆ กันไปแบบนี้เรื่อยๆ ตามลำดับเรียกว่า Blockchai
อย่างไรก็ตาม หลังจากสินทรัพย์ลงทุนอย่างบิทคอยน์เงียบหายไปสักพักใหญ่ ตอนนี้เริ่มกลับมาหวือหวาอีกครั้ง หลังจากผลตอบแทนจากการลงทุนในบิทคอยน์กลับมาโดดเด่นอีกครั้ง แถมผลตอบแทนดังกล่าวดันสูงกว่าราคาทองคำในปัจจุบันเสียอีก หลายคนก็รู้ดีว่า ราคาทองคำในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่งต่อเนื่อง และแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นไปอีก หลังจากราคาน้ำมันโลกผันผวน และไวรัสโควิด-19กระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกอย่างมีนัยยะ แต่ตอนนี้ผลตอบแทนจากบิทคอยน์ กลับมามีบทบาทอีกครั้ง
สาเหตุเกิดจากอะไรนั้น นายณพวีร์ พุกกะมาน ผู้บริหารส่วนภูมิภาค จีเอ็มไอ เอดจ์ กลุ่มสถาบันการเงินจากประเทศอังกฤษและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ ได้ให้ความเห็นถึงเรื่องนี้ว่า จากการเก็บสถิติตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมาพบว่า สินทรัพย์การลงทุนทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุด คือ บิทคอยน์ สินทรัพย์การลงทุนทางเลือกในตลาดคริปโตเคอเรนซี่ ที่ให้อัตราให้ผลตอบแทน 20% จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน (YTD) สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนของทองคำ ที่ให้ผลตอบแทน 12% จากต้นปีจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ดัชนี S&P500 ยังให้ผลตอบแทนติดลบ จึงมองว่า บิทคอยน์ เป็นหนึ่งในสินทรัพย์การลงทุนที่น่าจับตาในปีนี้
หนึ่งในปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนการเติบโตของอัตราผลตอบแทนของ บิทคอยน์ มาจากการที่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมถึงธนาคารกลางใหญ่ของโลก ใช้มาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) ในช่วงวิกฤตซับไพร์ม ปี 2008 ทำให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นถึง 174% และสร้างจุดสูงสุดใหม่ที่ระดับ 1900 ดอลลาร์ ขณะที่วิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องใช้มาตรการคิวอี อีกครั้งด้วยวงเงินที่ไม่จำกัด และธนาคารกลางทั่วโลก ต่างหันมาอัดฉีดสภาพคล่องอีกครั้งเช่นกัน
นอกจากนี้ ไวรัสโควิด-19 ทำให้คนทั่วโลกรู้จักและใช้เงินสกุลดิจิทัลมากขึ้นจากความกังวลในการใช้เงินสดที่อาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ตลอดจนการซื้อของออนไลน์ที่เติบโตขึ้นจากมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ทำให้คนทั้งโลกคุ้นเคยกับการใช้จ่ายเงินบนช่องทางออนไลน์ รวมถึงการใช้งานสกุลเงินดิจิทัล ด้วย ขณะที่รัฐบาลจีนได้เดินหน้าเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง หรือ DCEP และมีการทดลองใช้งานจริงแล้ว
โดยเริ่มทดลองใช้ในเชนร้านอาหารชั้นนำ อย่างแม็คโดนัลด์ สตาร์บัคส์ เช่นเดียวกับ Libra ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัล ที่ Facebook เปิดตัวมาตั้งแต่ปีที่แล้วได้ปรับปรุง Whitepaper ใหม่ เพื่อที่ลดแรงกดดันจากหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินทั่วโลก และหวังที่จะเปิดตัวใช้งานให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ สองสกุลเงินใหม่นี้จะทำให้คนทั้งโลกหันมาสนใจเงินดิจิทัล รวมถึงบิทคอยน์ มากขึ้น
ขณะที่กราฟเทคนิค ราคาบิทคอยน์ ไม่ลงไปทำจุดต่ำสุดใหม่ที่ระดับ 3,000 ดอลลาร์ ทำให้ภาพรวมของราคายังอยู่ใน Wave ที่ 2 ตามทฤษฎี Elliot Wave และเป็นไปได้ที่จะเกิด Wave ที่ 3 ซึ่งเป็นขาขึ้นที่ยาวนานที่สุด และจะต้องสูงกว่าจุดสูงสุดเดิมที่เกิดใน Wave ที่ 1 ซึ่งอยู่ที่ 19,000 ดอลลาร์ ต้องจับตาแกวันนี้ (12 พ.ค.63)จะเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า Bitcoin Halving ซึ่งจะเป็นการลดซัพพลายของบิทคอยน์ลงอีก หากมีดีมานด์เข้ามาสนับสนุน มีโอกาสที่บิทคอยน์จะยังเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง