5 พฤษภาคม 2563 : มูลนิธิกสิกรไทย มอบเงินสนับสนุนมนุษย์งานที่เป็นฟันเฟืองสำคัญ ในการขับเคลื่อนการทำงานด้านสาธารณสุขในช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 จัดตั้งโครงการ “เบี้ยรบพิเศษสำหรับนักรบเสื้อกาวน์” นำร่องในโรงพยาบาลรัฐ จำนวน 45 แห่ง ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีอัตราการแพร่ระบาดสูง มีบุคลากรรวม 5,083 คน โดยแต่ละคนจะได้รับเงินรายเดือนๆ ละ 4,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน
โดยคาดว่าตลอดทั้งโครงการสามารถมอบเงินช่วยเหลือได้รวมกว่า 20,000 คน ด้วยงบประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่ทุ่มเทและเสียสละแม้ต้องทำงานในพื้นที่เสี่ยง
นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ (Chairman Emeritus) ธนาคารกสิกรไทย และประธานกรรมการ มูลนิธิกสิกรไทย กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านสาธารณสุข เป็นกำลังหลักสำคัญในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำหน้าที่ดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนาด้วยหัวใจที่ทุ่มเทและเสียสละ นอกจากเสี่ยงกับการติดเชื้อแล้ว โรงพยาบาลบางแห่งยังอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอีกด้วย
ในขณะที่ต้องดูแลประชาชน ทุกท่านต่างก็มีภาระที่ต้องดูแลตนเองและครอบครัวให้อยู่รอดและปลอดภัยเช่นกัน มูลนิธิกสิกรไทยจึงมอบเงินสนับสนุนเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับนักรบเสื้อกาวน์รวม 20,000 คน คนละ 4,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – กรกฎาคม 2563 รวมงบประมาณทั้งสิ้น 300 ล้านบาท เพื่อจะได้นำเงินไปใช้จ่ายตามความจำเป็น โดยมูลนิธิกสิกรไทยจะมีกระบวนการจ่ายเงินเพื่อให้มั่นใจว่าเงินดังกล่าวถึงมือนักรบเสื้อกาวน์ได้อย่างทั่วถึง
โครงการ “เบี้ยรบพิเศษสำหรับนักรบเสื้อกาวน์” เป็นโครงการที่ดำเนินการโดย มูลนิธิกสิกรไทยร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สตูล และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้รวบรวมรายชื่อโรงพยาบาลที่เข้าข่ายตามเกณฑ์จำนวน 45 แห่ง ใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงแล้วยังประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แก่ จังหวัด สงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสตูล มีบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 5,083 คน
ทั้งหมดเป็นบุคลากรที่ปฏิบัติงานตั้งแต่มีการแพร่ระบาด และมีหน้าที่ในงานที่ได้สัมผัสเชื้อและดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุขจนถึงวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา
กสิกรไทย เตรียมวงเงิน 1 พันล้านบาท เปิดโครงการ “สินเชื่อ 0% เพื่อรักษาคนงานเอสเอ็มอี” ช่วยต่อลมหายใจพนักงานกว่า 41,000 คน
นายบัณฑูร กล่าวต่อไปว่า ธุรกิจขนาดเล็กได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ เพราะไม่ได้มีเงินทุนสำรองมากพอ เมื่อขาดสภาพคล่องก็จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก ธนาคารจึงได้จัดตั้งโครงการ “สินเชื่อ 0% เพื่อรักษาคนงานเอสเอ็มอี” เป็นเงินกู้สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็กเพื่อให้สามารถจ้างพนักงานต่อไปได้ มีอัตราดอกเบี้ย 0% สิ่งสำคัญของโครงการนี้ คือ การเข้าไปช่วยเหลือพนักงานให้ยังมีงานทำและมีเงินเดือนเพื่อเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว โดยพนักงานแต่ละคนจะได้เงินคนละ 8,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน
ธนาคารได้เตรียมวงเงินสินเชื่อสำหรับโครงการนี้ไว้ 1,000 ล้านบาท และทำให้เกิดการจ้างงานพนักงานกว่า 41,000 คนต่อไป ธนาคารยอมสูญเสียรายได้เพื่อให้คนในสังคมส่วนหนึ่งอยู่รอด เพราะการที่ทุกคนจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ จะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง คนที่มีต้องช่วยคนที่ไม่มี ถ้าทุกคนช่วยกันประเทศไทยก็จะสามารถฝ่าฟันและผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้อย่างแน่นอน
โครงการ “สินเชื่อ 0% เพื่อรักษาคนงานเอสเอ็มอี” เป็นการเชิญลูกค้าเอสเอ็มอีรายเล็กที่มีพนักงานไม่เกิน 200 คน และมีการใช้บริการกับธนาคารมานานหลายปีเข้าร่วมโครงการเท่านั้น ซึ่งเจ้าของธุรกิจต้องเป็นคนดี เป็นนักสู้ที่พยายามต่อสู้เพื่อนำพาธุรกิจและพนักงานรอดไปด้วยกัน การช่วยเหลือภายใต้โครงการนี้ ธนาคารจะช่วยจ่ายค่าจ้างพนักงานทุกคนให้บางส่วน ธุรกิจต้องดำเนินต่อไปได้ และสามารถดูแลค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในส่วนอื่น ๆ ได้เอง โดยไม่หยุดหรือปิดกิจการ
ธนาคารสนับสนุนเงินกู้เพื่อจ้างพนักงาน อัตราดอกเบี้ย 0% ฟรีค่าธรรมเนียมทุกประเภท ไม่ต้องมีหลักประกัน ระยะเวลากู้ 10 ปี และไม่ต้องผ่อนชำระคืนเงินกู้ 1 ปี เพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีรายเล็กมีเงินทุนในการจ้างพนักงานให้พวกเขามีรายได้และอยู่รอด โดยวงเงินกู้ของแต่ละบริษัทนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนพนักงาน พนักงานแต่ละคนจะได้เงินคนละ 8,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน
ธนาคารจะมีกระบวนการตรวจสอบได้ว่าเงินได้เข้าบัญชีพนักงานทุกคนจริง ซึ่งธนาคารได้เตรียมวงเงินสินเชื่อสำหรับโครงการนี้ไว้ 1,000 ล้านบาท จะสามารถช่วยธุรกิจทั่วประเทศจำนวนกว่า 1,000 บริษัท ให้มีเงินทุนในการจ้างพนักงานกว่า 41,000 คน
ทั้งนี้ เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทยได้เปิดตัวโครงการ “เถ้าแก่ใจดี เจ้าหนี้มีใจ” ซึ่งยังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยร่วมมือกับเจ้าของกิจการในการช่วยเหลือพนักงานที่มีเงินเดือนน้อยให้อยู่รอดได้ โดยมีจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่อง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี มีความคืบหน้าในการรักษาการจ้างพนักงานได้กว่า 2,000 คน จากที่ตั้งเป้าไว้ 3,000 คน คิดเป็นเกือบ 70% ของเป้า และธนาคารยังช่วยลดดอกเบี้ยบนเงินกู้เดิมที่ผู้ประกอบการมีกับธนาคาร คิดเป็นมูลค่ากว่า 60 ล้านบาท
สำหรับการปรับตัวของ SME ในยุค New Normal ที่จะต้องสู้กับโลกที่มีการแข่งขันมากกว่าเดิมนั้น นายบัณฑูร กล่าวว่าทุกคนต้องยกระดับความรู้ความสามารถให้ได้ ซึ่งวิถีแบบเดิมๆ ประเทศไทยก็มีปัญหาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ความรู้ ความสามารถในการแข่งขันที่ถดถอยลง ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวใหม่ สร้างช่องทางทำมาหากินรูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคส่วนเกษตรกร ที่เคยปลูกพืชแบบเดิมๆ ค้าขายแบบเดิมๆ จากนี้ไปไม่ได้แล้ว ต้องคิดใหม่ ปรับเปลี่ยนแนวทางการทำมาหากินใหม่ให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม