WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันพฤหัสบดี ที่ 19 กันยายน 2567 ติดต่อเรา
มาแล้ว…ร่าง พ.ร.บ.ประกันภัยทางทะเลฉบับประวัติศาสตร์ของประเทศไทย…ฝันใกล้เป็นจริง!!!

29 สิงหาคม 2559 : บอร์ด คปภ.ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.ประกันภัยทางทะเลฉบับประวัติศาสตร์ของประเทศไทย “สุทธิพล” ชี้เป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยบูมศักยภาพเศรษฐกิจไทยด้านอุตสาหกรรมประกันภัยทางทะเลการขนส่ง การเดินเรือทะเลให้แข่งขันในเวทีโลกได้

IMG_2885

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกันภัยธุรกิจประกันภัย เมื่อวันที่26 สิงหาคม 2559 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติการประกันภัยทางทะเล พ.ศ. … และให้สำนักงาน คปภ. เสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวต่อกระทรวงการคลังเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ เนื่องจากการประกันภัยทางทะเลเป็นธุรกรรมที่สำคัญประเภทหนึ่งในระบบการค้าระหว่างประเทศ การขนส่งสินค้า การเดินเรือในประเทศ และระหว่างประเทศ แต่ประเทศไทยกลับไม่มีกฎหมายประกันภัยทางทะเลเป็นของตนเองไว้ใช้ เมื่อเกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาประกันภัยทางทะเล ศาลฎีกาได้นำกฎหมายประกันภัยทางทะเลของประเทศอังกฤษมาปรับใช้ในฐานะหลักกฎหมายทั่วไป ตั้งแต่ พ.ศ. 2496 ซึ่งสามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นกฎหมายของต่างประเทศ จึงมีความยุ่งยากในการนำสืบหลักกฎหมาย และมีบางส่วนที่ไม่เหมาะสมที่จะใช้กับประเทศไทย

ประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้การประกันภัยทางทะเลอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายเฉพาะ แยกจากกฎหมายประกันภัยในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การยกร่าง พ.ร.บ. การประกันภัยทางทะเลนี้จะที่ทำให้ประเทศไทยได้มีกฎหมายประกันภัยทางทะเล ของตนเองเป็นครั้งแรก อันถือเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งสำคัญที่จะเป็นกลไกในการช่วยเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจไทยด้านอุตสาหกรรมประกันภัยทางทะเลและขนส่งให้แข่งขันในเวทีโลกได้

ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทของศาล เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างบรรทัดฐานในการใช้การตีความกฎหมายประกันภัยทางทะเลของไทย อันจะเป็นประโยชน์ต่อคู่ความในคดี ที่ไม่ต้องนำสืบหลักกฎหมายของต่างประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนในผลแห่งคดี รวมทั้งยังสามารถใช้เป็นเครื่องมืออันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเสริมประสิทธิภาพการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของสำนักงาน คปภ. อีกด้วย

“เดิม กรมเจ้าท่าได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำร่าง พ.ร.บ. การประกันภัยทางทะเล พ.ศ. … มาก่อน แต่จากการประสานความร่วมมือ กรมเจ้าท่าเห็นชอบให้สำนักงาน คปภ. เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการผลักดันร่าง พ.ร.บ. การประกันภัยทางทะเลฉบับนี้ โดยยินดีร่วมเป็นคณะทำงานด้วย”

สำนักงาน คปภ. จึงได้แต่งตั้งคณะทำงาน 2 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะกรรมการเพื่อศึกษาความจำเป็นในการจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันภัยทางทะเล พ.ศ. …. ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในภาคปฏิบัติ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนจากกรมเจ้าท่า ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายจากกรมสนธิสัญญา รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียจากทุกภาคส่วน ประกอบด้วย ผู้แทนสมาคมประกันวินาศภัยไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาคมเจ้าของเรือไทย สมาคมเจ้าของเรือและตัวแทนเรือกรุงเทพ สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ผู้บริหารและพนักงาน สำนักงาน คปภ.

IMG_6882

โดยมีเลขาธิการ คปภ. เป็นประธาน เพื่อศึกษา วิเคราะห์และให้ความเห็นในการจัดทำร่าง พ.ร.บ. การประกันภัยทางทะเล พ.ศ. …. และ 2. คณะทำงานเพื่อศึกษาและจัดทำร่างพระราชบัญญัติการประกันภัยทางทะเล พ.ศ. … ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันภัยทางทะเล โดยมีอำนาจหน้าที่หลักในการจัดทำและเสนอร่าง พ.ร.บ. การประกันภัยทางทะเล

คณะทำงานฯได้ดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ การประกันภัยทางทะเล โดยใช้หลักการเดียวกับ พ.ร.บ. การประกันภัยทางทะเล (Marine Insurance Act 1906) และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ประกันภัย (Insurance Act 2015) ของประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นหลักการที่นานาประเทศใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งยัง ได้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทของกฎหมายไทย ร่างพระราชบัญญัติการประกันภัยทางทะเล พ.ศ. … แบ่งออกเป็น 15 หมวด 134 มาตรา โดยมีสาระสำคัญ ในเรื่อง การกำหนดสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้รับประกันภัยและผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัยทางทะเล มีการกำหนดหลักการทั่วไป เช่นหลักสุจริตอย่างยิ่ง หลักส่วนได้เสีย หลักรับช่วงสิทธิ รวมถึงการจำแนกประเภทของสัญญาประกันภัยทางทะเล และหลักการคำนวณสินไหมทดแทนสำหรับการประกันภัยแต่ละประเภท เป็นต้น

“เมื่อร่างเสร็จสมบูรณ์ คณะทำงานฯ ที่มาจากทุกภาคส่วนได้ร่วมกันพิจารณาแล้ว เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. การประกันภัยทางทะเล ฉบับนี้สอดคล้องกับหลักกฎหมายและวิธีปฏิบัติทางการค้าระหว่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นยังสอดรับกับระบบกฎหมายและวิธีปฏิบัติของประเทศไทย ซึ่งคณะทำงานฯ ได้นำร่าง พ.ร.บ. ที่ยกร่างนี้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยผลการรับฟังความคิดเห็นได้รับเสียงสนับสนุนเป็นเอกฉันท์” เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมในที่สุด

ศาสตราจารย์พิเศษ สิทธิโชค ศรีเจริญ ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อศึกษาและจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันภัยทางทะเล กล่าวว่า “ขอขอบคุณ คปภ. ที่ช่วยสานฝันให้เป็นจริง เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนรอคอยมานานกว่า 30 ปี จะเป็นเครื่องมือสำคัญและจะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาต่อยอดระบบการค้า การขนส่ง การลงทุน และการศึกษาของประเทศไทย อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต” logo เล็ก (ปิดท้ายข่าว)

ประกันภัย ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP