01 เมษายน 2563 : สองสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดความวุ่นวายในหมู่ผู้ถือหน่วยผู้ถือหุ้นกองทุนตราสารหนี้ หลังจากเกิดโรคระบาดการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ขยายวงกว้าง การแพร่เชื้อดังกล่าวกดดันเศรษฐทั่วโลกลดลงต่ำอย่างรวดเร็ว ส่งผลไปถึงตลาดทุนและตลาดเงินทั่วโลกผันผวนค่อนข้างแรง ขณะราคาสินทรัพย์เสี่ยงอย่าง “ตราสารหนี้” ก็เกิดความผันผวนไม่น้อยเช่นกัน ทำให้นักลงทุนพากันกังวลถึงสถานการณ์ดังกล่าวค่อนข้างมาก และตัดสินใจที่จะขายหน่วยลงทุนตราสารหนี้ที่ตนเองถืออยู่ออกมาเป็นตัวบ่งชี้ถึงการ panic ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน
ในที่สุด ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. สมาคมธนาคารไทย สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (AIMC) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. และกระทรวงการคลัง ออกมาแถลงแนวทางในการใช้มาตรการดูแลตลาดตราสารหนี้และกองทุนตราสารหนี้ เพื่อให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจ หยุด panic เพื่อไม่ให้กระทบกองทุนตราสารหนี้อื่น
สำหรับมาตรการของธปท. ที่เกี่ยวกับตราสารหนี้ ประกอบด้วย 1.ให้ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหน่วยลงทุน และอนุญาตให้ ธนาคารพาณิชย์ใช้หน่วยลงทุนเป็นหลักประกันในการทำ repo กับธปท.
2.ตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง เม็ดเงินจาก สมาคมธนาคารไทย ธุรกิจประกันชีวิต ธนาคารออมสิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข. วงเงินลงทุน 70,000- 100,000 ล้านบาท รับ rollover หุ้นกู้คุณภาพดีที่ครบกำหนด โดยกำหนดอายุไม่เกิน 270 วัน ตอนนี้มีเข้ามาแล้ว 80,000 ล้านบาท และ 3.ธปท.จะเข้าดูแลให้ตลาดพันธบัตรรัฐบาลทำงานตามปกติ โดยการเสริมสภาพคล่องอย่างเต็มที่ มาตราการดังกล่าวออกมาช่วยให้นักลงทุนชะลอการขายคืนหน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างๆได้ผลมากเลยทีเดียว
แต่ไม่ได้ผลกับ 4 กองทุนตราสารหนี้ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทหารไทย อีสท์สปริง จำกัด หรือ TMBAM Eastspring ประกอบด้วย 1.กองทุนเปิดทหารไทย ธนเพิ่มพูน 2.กองทุนเปิดทหารไทย ธนไพบูลย์ 3.กองทุนเปิดทหารไทย ธนพลัส และ 4.กองทุนเปิดทหารไทย ธนไพศาล ที่นักลงทุนแห่งขายหน่วยคืนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 16-25 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา
โดยเฉพาะกองทุนเปิดทหารไทย ธนเพิ่มพูน และกองทุนเปิดทหารไทย ธนไพบูลย์ นักลงทุนแห่ขายมากสุด ส่งผลให้มูลค่ากองทุนลดลงถึง 50-70% ทำให้ทาง TMBAM Eastspring มีคำสั่งหยุดการทำธุรกรรมต่างๆ รวมไปถึงยกเลิกกองทุนดังกล่าวด้วย และในวันที่ 26 มีนาคม 2563 นักลงทุนที่ถือหน่วยลงทุนในกองทุนเปิดทหารไทย ธนพลัส และกองทุนเปิดทหารไทย ธนไพศาล แห่ขายหน่วยลงทุนอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ทำให้ทางผู้จัดการกองทุนจำป็นต้องสั่งหยุดการทำธุรกรรมทุกอย่างรวมถึงยกเลิกกองทุนด้วยเช่นกัน
อะไร คือ ปัญหาที่ทำให้นักลงทุนแห่ขายหน่วยลงทุนทั้ง 4 กองทุน อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ทางการได้มีมาตรการออกมาช่วยรองรับอย่างเต็มที ประการแรก กองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนตราสารหนี้ขนาดใหญ่มีมูลแต่ละกองเกือบแสน มีนักลงทุนทั้งรายใหญ่และรายย่อยเข้าลงด้วยจำนวนมาก เนื่องจากเป็นกองทุนที่ให้ผลตอบแทนดีมาก จ่ายคืนหน่วย T+1 สินทรัพย์ที่กองทุนเข้าไปลงทุนเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณภาพมากที่เรียกกันว่า Investment grade
ได้รับการจัดอับดับเรตติ้งเกิน A+ ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นในการลงทุน แต่ความผันผวนของตลาดเงิน ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่สบายใจ ไถ่ถอนหน่วยลงทุนออกมาเพื่อไปพักเงินไว้ที่อื่นแทน แต่ด้วยกองทุนดังกล่าวมีนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาลงทุนค่อนขางมาก พอเกิดการไถ่ถอนของนักลงทุนรายมหญ่เหล่านี้พร้อมๆกัน ราคาหน่วยลงทุน NAV ก็รูดลงหนัก ขณะที่ทางฝั่งนักลงทุนรายย่อย เห็นราคา NAV ลดลงฮวบจนตกใจ คิดว่ากองทุนนี้น่าจะมีความเสี่ยง เลยพากันแห่ขายหน่วยลงทุนตามๆ กันมา
เมื่อนักลงทุนแห่กันมาขายคืนหน่วยลงทุนจำนวนมากแบบนี้ แน่นอนว่าไม่เป็นผลดีกับกองทุนนั้นๆ แน่นอน เรื่องสภาพคล่องก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง แต่ราคาสินทรัพย์ลงทุนที่จำเป็นต้องขายออกไปเพื่อนำเงินมาคืนนักลงเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่า เพราะการขายสินทรัพย์จากการpanicของนักลงทุน ทำให้กดดันราคาสินทรัพย์นั้นๆ ให้ออกมาอย่างไม่ควรจะเป็น เพราะอย่าลืมว่า สินทรัพย์ที่กองทุนนำเงินไปลงทุน ประกอบไปด้วยพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน เงินฝากอัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งสินทรัพย์เหล่านี้มีกฏเกณฑ์การลงทุนที่ชัดเจน
โดยเฉพาะในเรื่องของระยะเวลาในการลงทุน หากไถ่ถอนก่อนกำหนดนอกจากจะเสียค่าปรับแล้ว ยังขาดทุนจากการลงทุนในสินทรัพย์นั้นๆ ด้วย ผู้จัดการกองทุนจึงตัดสินใจให้หยุดทำธุรกรรมต่างๆ ทั้ง4กองทุนและยกเลิกกองทุน เพื่อรักษาผลประโยชน์ด้านผลตอบแทนให้กับนักลงทุนให้เป็นในทิศทางที่ควรจะเป็นและเป็นการรักษาผลตอบแทนสำหรับนักลงทุนที่ไม่ต้องการขายคืนหน่วยลงทุนตาม panic ด้วย
การยกเลิกกองทุนนั้น ดีอย่างไรในภาวะ panic แบบนี้ เป็นการเพิ่มระยะเวลาให้กับผู้จัดการกองทุนในการขายสินทรัพย์ลงทุนออกไป เพื่อนำเงินมาคืนนักลงทุนทุกคนด้วยอัตราผลตอบแทนที่ควรจะเป็นอย่างแท้จริง หรือพูดง่ายๆว่า พยายามขายคืนให้ขาดทุนได้น้อยที่สุด และหากบางสินทรัพย์บางชิ้นยังไม่สามารถขายคืนได้ด้วยเหตุที่จะทำให้ขาดทุนเพิ่มเติม ผู้จัดการกองทุนสาามารถใช้เวลาที่มีในระยะเวลา 90 วันในการคืนเงินให้กับผู้ถือหน่วย ในการหาจังหวะที่เหมาะสมในการขายสินทรัพย์คืน เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับนักลงทุน
ถามว่าเหตุใดทั้ง 4 กองทุนจึงไม่สามารถใช้มาตรการของ ธปท.ในการดูแลตราสารที่อยู่ในกองทุนได้ คำตอบมีเพียงอย่างเดียวคือ กองทุนทั้ง 4 กองทุนลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศเกินเกณฑ์ที่มาตราการธปท.กำหนด โดยกองทุนลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศกว่า 30% ของมูลค่ากองทุน ซึ่งมาตราการธปท.กำหนดไว้ว่า กองทุนที่เข้าร่วมมาตราการของธปท.ได้จะต้องเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ ที่ลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศที่มีคุณภาพที่มีเรตติ้งตั้งแต่ A- ขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 70% และนี่คือเหตุผลที่ทำไมทั่ง 4 กองทุนจึงไม่เข้าเกณฑ์ช่วยเหลือ แต่ในข่าวร้ายย่อมมีข่าวดีเสมอ
กองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศสูงเหมือน 4 กองทุนดังกล่าวของ TMBAM Eastspring ไม่มีแล้ว ดังนั้น กองทุนตราสารหนี้ที่เหลือของ TMBAM Eastspring สามารถใช้มาตรการของธปท.ได้ทุกกองทุน นักลงทุนสบายใจได้
ตราสารหนี้ยังคงน่าสนใจอยู่หรือไม่ นายวศิน วัฒนวรกิจกุล บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือ BBLAM ให้ข้อมูลว่า ตราสารหนี้ก็ยังเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ลงทุน โดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจที่เป็นเช่นนี้ สำหรับคนที่ไม่อยากจะรับความเสี่ยงมาก ก็อาจจะต้องกลับมามองตราสารหนี้ ขอเพียงเข้าใจว่า ตัวของเราจะสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน อยากได้อะไร และรู้ว่า สิ่งที่ซื้อ คืออะไร ปลอดภัย หรือว่าเสี่ยงหน่อย ตัวเองจะยอมรับได้ไหม จากนั้น ก็จัดสรรเงินลงทุนให้เหมาะสม แล้วมาลงทุนในระยะเวลาที่ยาวมากพอ
อย่างไรก็ตาม นายวศิน วณิชย์วรนันต์ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ระบุว่า มาตรการช่วยเหลือกองทุนตราสารหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.ครอบคลุมกองทุนตราสารหนี้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมในขณะนี้ ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ต่างๆได้มีการเรียมการกับความผันผวนของตลาดเงินเป็นอย่างดี จึงไม่อยากให้นักลงทุนกังวล และเร่งขายหน่วยลงทุนที่มีคุณภาพดีออก เพราะจะเป็นการกดดันราคาสินทรัพย์ลงทุนออกมาในลักษณะที่ไม่ควรจะเป็น
ขณะที่ นางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.พร้อมให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่กองทุนรวมทุกกอง ที่เป็นกองทุน Money Market Fund และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองเปิดทุกกอง ที่ได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องของตลาดการเงิน หลังออกกลไลช่วยเหลือออกไป
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีธนาคารพาณิชย์ได้เริ่มทดลองใช้กลไกพิเศษดังกล่าว แต่ปริมาณการขอรับความช่วยเหลือมีจำนวนไม่มาก ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากตลาดการเงินไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น สภาพคล่องของกองทุนรวมปรับดีขึ้นจากสัปดาห์ก่อน หลังจากผู้ถือหน่วยลงทุนลดความตื่นตระหนก ได้ศึกษาทำความเข้าใจทรัพย์สินที่กองทุนรวมลงทุนมากขึ้น รวมถึงเข้าใจว่าการไถ่ถอนหน่วยลงทุนในภาวะที่ตลาดการเงินไม่ปกตินั้น อาจทำให้ได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าที่ควรโดยไม่จำเป็น
เราจะเห็นว่า ความ panic มากจนเกินข้อเท็จจริง อาจทำให้เราเสียผลประโยชน์โดยไม่จำเป็น นักลงทุนควรไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง แต่การขายหน่วยลงทุนคืนก็คงไม่ผิด เพราะเป็นสิทธิที่ทำได้ตามความพึงพอใจ
ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้น บลจ.ที่จะออกกองทุนแระเภทดังกล่าวต้องวางแผนใหม่ ให้สามารถรับมือหากเกิดการ panic แบบไม่คาดฝันได้ อย่างที่ นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ให้ความเห็นว่า ในอนาคตกองทุนประเภทนี้จำเป็นต้องแยกเป็น กองทุนสำหรับรายย่อย และกองทุนสำหรับรายใหญ่ และระบุวงเงินลงทุนต่อรายที่ชัดเจน หากเกิด Panic อีกจะไม่กระทบต่อกองทุนในการคืนผลตอบแทนในราคาที่เหมาะสม