27 มีนาคม 2563 : ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปทั่วทุกภูมิภาค และรัฐบาลได้ออกข้อกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดนั้น ในวันที่ 25 มีนาคม 2563 ตนพร้อมด้วยคณะผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. ได้หารือร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย ผ่านระบบการประชุมทางจอภาพ
โดยมี นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย และนางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เข้าหารือด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามเงื่อนไขของข้อกำหนดดังกล่าว และดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบแก่ประชาชนผู้ใช้บริการด้านการประกันภัย ตลอดจนรับทราบสภาพปัญหา ข้อเสนอแนะและร่วมกันหาทางแก้ไขเพื่อบรรเทาผลกระทบแก่ประชาชนและอุตสาหกรรมประกันภัยในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19
ที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนด้านการประกันภัย รวมทั้งผ่อนคลายกฎเกณฑ์การกำกับดูแลเพื่อเยียวยาผลกระทบต่อภาคธุรกิจประกันภัย เช่น ส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยโดยเฉพาะ เพื่อคุ้มครองโรคที่เกิดจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างมาก มีการออกคำสั่งให้บริษัทสามารถลดเบี้ยประกันภัยได้ ขยายระยะเวลาส่งรายงานทางการเงิน อนุญาตให้บริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย ปิดสาขา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
โดยต้องจัดให้มีมาตรการในการรองรับการรับแจ้งเหตุ การเจรจาตกลงชดใช้เงินตามกรมธรรม์และมาตรการอื่น เพื่อดูแลและอำนวยความสะดวกแก่ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ รวมถึงต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้เอาประกันภัยทราบด้วย ฯลฯ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 อาจยกระดับความรุนแรงขึ้น สำนักงาน คปภ. จึงขอความร่วมมือให้สมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย รวบรวมสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อร่วมกันปรับแนวทางในการปฏิบัติงาน และเตรียมความพร้อมในการรองรับการให้บริการและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยของประชาชนในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19
ด้าน นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณทางสำนักงาน คปภ.ที่ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเยียวยาปัญหาแก่ประชาชนและบริษัทประกันภัยได้อย่างรวดเร็ว บริษัทประกันภัยได้มีแผนรองรับสถานการณ์นี้ โดยการปฏิบัติงานจากที่บ้าน (Work From Home) ใช้ระบบออนไลน์ในการปฏิบัติงาน แต่ยังคงมีความจำเป็นต้องเปิดทำการ เนื่องจากต้องให้บริการประชาชน เช่น กรณีการเบิกจ่ายค่าสินไหมทดแทน เงินครบกำหนดตามกรมธรรม์ เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยได้รับการบริการที่สะดวกและรวดเร็ว แต่การปิดทำการเพียงบางส่วนก็จะสามารถลดคนเพื่อไม่ให้เดินทางได้
นอกจากนี้ยังได้หารือร่วมกันระหว่างบริษัทสมาชิก พบว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้มีประชาชนสนใจทำประกันภัยกันมาก แต่ผู้ขายและผู้ซื้อ ไม่สามารถเจอกันได้โดยตรง ดังนั้น หากมีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เช่น รูปแบบช่องทางการเสนอขาย หรือผ่อนคลายมาตรการด้านเงินกองทุนต่าง ๆ ก็จะช่วยบรรเทาผลกระทบของธุรกิจประกันชีวิตในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้
ส่วน นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวด้วยว่า เห็นด้วยกับทางสมาคมประกันชีวิตไทย และขอเสนอเพิ่มเติมกรณีการส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือการต่ออายุกรมธรรม์ หากมีการผ่อนคลายกรณีดังกล่าว โดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างบริษัทและผู้เอาประกันภัย ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน
นอกจากนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ยังได้ร่วมหารือกับบริษัทสมาชิกแล้ว เห็นด้วยกับสำนักงาน คปภ. ในการใช้มาตรการผ่อนคลายให้บริษัทประกันภัยรับชำระเบี้ยประกันภัยรถยนต์เป็นรายงวดได้ โดยภาคธุรกิจประกันภัยพร้อมรองรับมาตรการดังกล่าว
“สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน รวมทั้งภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นอย่างยิ่ง จึงได้บูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนมาตรการด้านประกันภัยในการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน รวมถึงภาคธุรกิจอย่างเต็มที่ การประชุมครั้งนี้ เป็นการรับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะ และร่วมกันปรับแนวทางในการปฏิบัติงาน เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการให้บริการแก่ประชาชนผู้เอาประกันภัยในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ซึ่งสำนักงาน คปภ. พร้อมที่จะออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สายด่วน คปภ. 1186 หรือเว็บไซต์ www.oic.or.thหรือ กลุ่มงานสื่อสารองค์กร โทรศัพท์ 02-515-3998-9 ต่อ 8307 โทรสาร 02-513-1437 PROIChttp://www.facebook.com/2012