13 มีนาคม 2563 : ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนถึงต้นตอ อบรมเหล่าพ่อค้าแม่ค้า ผ่าน โครงการพ่อค้าแม่ค้าพากเพียร ซีซั่น 4 เสริมความรู้ทางการเงินให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างวินัยทางการเงิน ที่ซีซั่น 4 นี้ เนื้อหาจะเข้มข้น ลงลึก โดยเฉพาะความพร้อมรับมือสังคมไร้เงินสด และการค้าขายในยุคดิสรัปชั่น ตั้งเป้าปี 2563 จะมีผู้เข้าอบรมในโครงการฯ 50,000 ราย
นายรอย ออกุสตินัส กุนารา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารไทยเครดิตฯ เผยว่า “หนี้ครัวเรือนเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาต่อเนื่องในปีนี้ ตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น ธนาคารเองมีแนวทางการเฝ้าระวังและติดตามลูกหนี้อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ธนาคารเชื่อว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดหนี้ครัวเรือนมาจากการขาดการวางแผนทางการเงินที่ดี ขาดวินัยการออม การใช้จ่าย และการบริหารหนี้ ที่ท้ายสุดนำไปสู่ปัญหาการก่อหนี้เกินตัวจนยากจะแก้ไข การแก้ปัญหาที่แท้จริงจึงควรแก้ที่ต้นตอ คือการเสริมความรู้ให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันและรู้จักสร้างวินัยทางการเงิน บริหารหนี้ที่ถูกต้อง และส่งเสริมทักษะในการประกอบอาชีพสร้างรายได้ที่มั่นคง
ธนาคารไทยเครดิตฯ ในฐานะเป็นสถาบันที่มีองค์ความรู้ด้านการเงิน จึงจัดตั้งโครงการพ่อค้าแม่ค้าพากเพียรขึ้น โดยปีนี้เป็นปีที่ 4 จากความสำเร็จที่ผ่านมาใน 3 ปีแรก ที่ทำให้ผู้เข้าอบรมมีวินัยทางการเงินดีขึ้น โดยกว่า 95% จ่ายตรงไม่มีผิดนัด การอบรมเน้นเสริมความรู้พื้นฐานทางการเงิน และเติมศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ให้มีความรู้และการสร้างวินัยทางการเงิน รวมถึงเทคนิคการประกอบธุรกิจ ที่จะต้องค้าขายอย่างไรให้รวย มีเงินเหลือใช้ มีกำไรเหลือเก็บ
สำหรับซีซั่น 4 นี้ จะมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการเตรียมความพร้อม ให้พ่อค้าแม่ค้าสามารถดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล ให้รอดพ้นจากการถูกดิสรัปชั่นด้วยเทคโนโลยี ผ่านการให้บริการการชำระเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิคส์ ด้วยแพลตฟอร์มที่จะช่วยจัดการเรื่องทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นคิวอาร์โค้ด พร้อมเพย์ ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับสังคมไร้เงินสด นอกจากนี้สำหรับพ่อค้าแม่ค้าที่เคยผ่านการอบรมในโครงการพ่อค้าแม่ค้าพากเพียรไปแล้ว จะสามารถเข้าอบรมต่อยอดในขั้นต่อไป ซึ่งเป็นคอร์สอบรมเทคนิคการขาย ที่จะเผยกลยุทธ์การครองใจลูกค้า สู่การสร้างยอดขาย เพิ่มรายได้ เพิ่มลูกค้า อีกด้วย”
“ในซีซั่นที่ผ่านมา โครงการพ่อค้าแม่ค้าพากเพียรทั่วประเทศได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้เข้าอบรมร่วม 8,000 คน ในซีซั่น 4 นี้ ธนาคารตั้งเป้าตลอดปี 2563 จะมีพ่อค้าแม่ค้าเข้าอบรม 50,000 ราย โดยเพิ่มวิทยากรที่เป็นพนักงานของธนาคารจาก 50 คน เป็น 300 คนทั่วประเทศ ธนาคารฯ เล็งเห็นว่า พ่อค้าแม่ค้าเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ที่เป็นรากฐานเศรษฐกิจของประเทศ หากกลุ่มธุรกิจนี้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศก็จะเข้มแข็งขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนก็จะลดลง
โดยโครงการพ่อค้าแม่ค้าพากเพียร เป็นกิจกรรมเพื่อสังคมที่ตอกย้ำสโลแกน “ใครไม่เห็น เราเห็น” ภายใต้แนวคิด “ทุกคนคือคนสำคัญ” ของธนาคารฯ ที่ต้องการสนับสนุนลูกค้ากลุ่มรายย่อยให้มีโอกาสเติบโตทางธุรกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้น” รอย กล่าวปิดท้าย