ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย/ กรุงเทพฯ 12 มีนาคม 2563 : ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย ครั้งที่ 1/2563 โดยมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กระทรวงการคลัง (สำนักงาน ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมประชุม
เพื่อหารือแนวทางในการพัฒนาตลาดทุนไทย ให้ตลาดทุนสามารถส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยน และยกระดับขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทย เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาสภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ
สำหรับการประชุมดังกล่าว ได้มีการหารือในการเพิ่มมาตรการภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนไทย อันจะเป็นการปฏิรูปบทบาทของตลาดทุนให้มีส่วนร่วมในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นรากฐานอันสำคัญของประเทศผ่านการใช้กลไกของตลาดทุนเป็นเครื่องมือสำคัญ ประกอบด้วยมาตรการเสริมสร้างขีดความสามารถและการเข้าถึงตลาดทุนของผู้ประกอบการ การพัฒนาทักษะทางการเงิน และการพัฒนา ตลาดทุนดิจิทัล
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า สำนักงาน คปภ. ได้เสนอมาตรการ/แผนงานเพิ่มเติมในการปรับปรุงแผนพัฒนา ตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 ดังนี้
1. บูรณาการให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาทักษะทางการเงิน โดยได้นำประสบการณ์ของการดำเนินงาน ในโครงการต่างๆ ที่มีบทบาทและมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย (Insurance literacy) และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงการประกันภัยของสำนักงาน คปภ. ให้กับชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ผ่านโครงการสำคัญ อาทิ
(1) โครงการ “คปภ. เพื่อชุมชน” ที่ได้ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัยและหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่องในการลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ จัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการประกันภัยที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละชุมชน รวมถึงแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และถอดบทเรียนจากประสบการณ์จริงเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นและประโยชน์ของการประกันภัย และสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม พร้อมกับประชาสัมพันธ์บทบาทและภารกิจของสำนักงาน คปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบครบวงจร
(2) โครงการประกันภัยข้าวนาปีซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ร่วมกับโครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยผู้ผ่านการอบรมจะสามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดต่อให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี ซึ่งโครงการดังกล่าว สำนักงาน คปภ. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินโครงการมาอย่างต่อเนื่องใน 31 จังหวัด ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี จำนวน 42 ล้านไร่ หรือประมาณร้อยละ 80 ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีทั้งหมด
(3) โครงการ OIC Gateway โดยดำเนินการพัฒนาระบบ OIC Gateway เพื่อส่งเสริมการใช้และพัฒนาเทคโนโลยีด้านการประกันภัยให้เกิดสังคมแห่งการเชื่อมโยงระหว่างกัน ส่งเสริมการใช้งานข้อมูลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และส่งเสริมการทำงานเชื่อมโยงร่วมกันแบบอัตโนมัติ (Automation and Collaboration)
(4) โครงการพัฒนา Chatbot “คปภ. รอบรู้” โดยเป็นระบบ AI ที่มีความสามารถในการประมวลภาษาไทย แยกแยะหาคำสำคัญที่ถามเข้ามา และค้นหาคำตอบส่งกลับไปโดยอัตโนมัติ
(5) โครงการพัฒนา Applications สำหรับธุรกิจประกันภัย โดยมีการพัฒนา Application กลางสำหรับธุรกิจประกันภัย อาทิ Application คนกลาง ForSure เพื่อให้บริการข้อมูลด้านคนกลางประกันภัย ซึ่งถือเป็นช่องทางสำคัญในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย
ทั้งนี้ ได้เสนอให้มีการส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องการเงินโดยเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก โดยจะบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อบรรจุความรู้ด้านการเงินลงในหลักสูตรการเรียนการสอนตั้งแต่การศึกษาในระดับต้น และจัดทำคู่มือการเรียนการสอน ซึ่งสามารถออกแบบให้เหมาะสมและครอบคลุมความรู้เรื่องการเงินในประเด็นต่างๆรวมถึงเรื่องประกันภัยด้วย
2. การศึกษาแนวทางพัฒนา ASEAN micro insurance product เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยมาตรฐาน สำหรับประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยมีเงื่อนไขความคุ้มครองเดียวกัน และเบี้ยประกันภัยเท่ากัน สามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ทุกที่ในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งพัฒนาช่องทางการเสนอขายที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกและทั่วถึง ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใด
โดยจะเริ่มต้นจากกรมธรรม์ประกันภัยไมโครอินชัวรันส์อุบัติเหตุ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีราคาถูก ความคุ้มครองไม่ซับซ้อน การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไม่ยุ่งยาก โดยขณะนี้การดำเนินงานอยู่ในระยะที่ 2 คือ การหาพันธมิตรเครือข่าย ระหว่างภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย และความร่วมมือระหว่างสมาคมประกันภัยและบริษัทประกันภัยในแต่ละประเทศ
3. โครงการศึกษาวิจัยการประกันภัยเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งได้ร่วมกับวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีข้อเสนอแนะให้มีการส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่หลากหลาย สอดคล้องกับสภาพความต้องการและความเสี่ยงและสอดคล้องกับสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยในปัจจุบัน อาทิ การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long term care insurance) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการในรายละเอียด
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้ดำเนินการออกมาตรการในการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา (COVID-19) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นใน 5 ด้าน ดังนี้
1. แถลงการณ์ยืนยันให้เกิดความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันภัยการเดินทางที่มีอยู่ในปัจจุบันครอบคลุมถึงการคุ้มครองโรคที่เกิดจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้มีการจัดทำผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่รองรับการคุ้มครองโรคที่เกิดจากไวรัสนี้โดยเฉพาะ โดยหากมีการขออนุมัติแบบกรมธรรม์ดังกล่าวจะอนุมัติให้แบบ fast track ซึ่งขณะนี้มีบริษัทประกันภัย 14 บริษัท ได้รับความเห็นชอบแบบผลิตภัณฑ์นี้
2. สร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจประกันภัย โดยจัดทำ Stress test เพื่อทดสอบปัจจัยมหภาค การเคลมจากการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยเพื่อเตรียมมาตรการรองรับ หากสถานการณ์มีความรุนแรง ซึ่งผลการทดสอบพบว่า ธุรกิจประกันภัยมีความแข็งแกร่งและสามารถรองรับสถานการณ์ไวรัสโคโรนาได้เป็นอย่างดี
3. มีระบบการกำกับดูแล โดยการปรับกฎกติกาต่าง ๆ ให้มีความยืดหยุ่น และพร้อมที่จะมีการทบทวนเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์
4. มีระบบการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ กรณีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย
5. มีระบบการดูแลภาคธุรกิจประกันภัยและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดยการออกมาตรการต่าง ๆ ซึ่งได้ดำเนินการออกมาตรการในช่วงแรก 4 มาตรการ คือ
(1) สนับสนุนส่งเสริมและเร่งอนุมัติผลิตภัณฑ์ที่ให้ความคุ้มครองการเจ็บป่วยจากไวรัสโคโรนาโดยเฉพาะ
(2) สนับสนุนส่งเสริมมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทยร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยศึกษาและพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองนักท่องเที่ยว ซึ่งเกิดการเจ็บป่วยจากโรคไวรัสโคโรนา
(3) ส่งเสริมสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจประกันภัย โดยจัดทำ Stress test เพื่อทดสอบปัจจัยมหภาค การเคลมจากการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยเพื่อเตรียมมาตรการรองรับ หากสถานการณ์มีความรุนแรง
(4) เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้ว่า กรมธรรม์ประกันสุขภาพ ประกันชีวิต และประกันภัยการเดินทางสามารถคุ้มครองหากเจ็บป่วยจากไวรัสโคโรนา และต่อมาได้ออก 15 มาตรการ คือ ด้านการประกันชีวิต อาทิ ขยายระยะเวลาผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันชีวิตออกไปอีก 60 วันจากกำหนดระยะเวลาผ่อนผันเดิม ยกเว้นดอกเบี้ยกรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตสิ้นผลบังคับ หากผู้เอาประกันภัยขอต่ออายุ หรือขอกลับคืนสู่สถานะเดิม ภายใน 6 เดือน ผ่อนผันการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในกรณีนำมูลค่าเวนคืนมาชำระเบี้ยประกันภัยโดยอัตโนมัติ หรือกู้ยืมเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิต ผ่อนผันให้ผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยประกันภัยในแต่ละงวด
โดยไม่คิดดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมีการเปลี่ยนแปลงเบี้ยงวดการชำระเบี้ยประกันภัยใด ๆ ก็ตาม หรือมีการชำระเบี้ยประกันภัยรายงวดที่น้อยกว่า 1 ปี ขอความร่วมมือให้บริษัทประกันชีวิตสามารถลดอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตและสัญญาเพิ่มเติมที่ให้ความคุ้มครองสุขภาพ ได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนเบี้ยประกันภัย มาตรการด้านประกันวินาศภัย อาทิ ผ่อนผันการชำระเบี้ยประกันภัยของกรมธรรม์ประกันสุขภาพ หรือกรมธรรม์ประกันภัยที่มี่ความคุ้มครองเดียวกัน ผ่อนผันให้ผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยเป็นรายงวดได้ สำหรับการประกันอัคคีภัยและการประกันภัยเบ็ดเตล็ด บริษัทอาจลดเบี้ยประกันภัยสำหรับผู้เอาประกันภัยโดยตรงกับบริษัทได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนเบี้ยประกันภัย
มาตรการด้านคนกลางประกันภัย อาทิ ขยายระยะเวลาต่ออายุใบอนุญาตเป็นตัวแทน-นายหน้าประกันภัย ให้ตัวแทน-นายหน้าประกันภัย งดการเข้าสอบเมื่อมีอาการไอ จาม หรือเป็นไข้ ชะลอหรืองดการเข้ารับการอบรมตามหลักสูตรฯ ขอความร่วมมือหน่วยงานที่ได้รับความเห็นชอบในการจัดอบรมตามหลักสูตรชะลอหรืองดการจัดอบรม โดยให้สิทธิ์ไม่คิดค่าใช้จ่ายสำหรับการอบรมในครั้งต่อไป นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย มอบกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองโรคไวรัสโคโรนา COVID-19 ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 70,000 ฉบับ โดยมีวงเงินความคุ้มครองรวมทั้งสิ้น 3,500 ล้านบาท
ทั้งนี้ จะมีการหารือร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย เพื่อกำหนดมาตรการเพิ่มเติมในการรองรับสถานการณ์ดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 12 มีนาคม 2563 เพื่อให้ครอบคลุมทั้งในส่วนของการประกันชีวิต และการประกันวินาศภัยต่อไป