9 มีนาคม 2563 : ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันร่วงลง 30% จากการที่ซาอุดิอาระเบีย ยกเลิกข้อตกลงการคุมกำลังการผลิตน้ำมันกับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และรัสเซีย โดยจะขยายกำลังการผลิตเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด (Market share) ซึ่งซาอุฯเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมไปถึงลดราคาน้ำมันดิบลงหลังจากที่การเจรจาของกลุ่มโอเปก ประสบความล้มเหลวในการขยายข้อตกลงกับรัสเซีย
สำนักวิจัยฯมองว่า 1. ซาอุฯไม่อยากเห็นสหรัฐฯเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ตามมาด้วยรัสเซีย ขณะที่ตัวเองเป็นเบอร์สาม เลยไม่สนราคาที่ลงเพราะต้นทุนต่ำกว่าพวก เรียกว่าลดราคาได้เต็มที่แย่งฐานลูกค้ามาก่อน (ปัจจุบันซาอุฯจำกัดการผลิตไม่เกิน10ล้านบาร์เรลต่อวัน)
2. สหรัฐฯได้รับผลกระทบแน่ เพราะเป็นผู้ผลิต เมื่อราคาลงต่ำกว่าต้นทุน บริษัทน้ำมันจะขาดทุน ปิดกิจการ เลิกจ้าง รอดูว่าผลลบจะแรงเหมือนช่วงที่ซาอุฯทำตอนปลายปี 15-16 หรือไม่ แต่เศรษฐกิจที่ชะลอ เฟดอาจลดดอกเบี้ยรอบ 17-18 มีนาคมนี้อีก 0.5%
3. เศรษฐกิจโลกผันผวนต่อเนื่องหลังไวรัสโควิดกดดันภาพรวม ซึ่งนอกจากอุปสงค์จะลดลงจนกระทบการส่งออกแล้ว สินค้าส่งออกของไทยยังมีกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน เช่น เคมี ปิโตรเลียม ยาง และสินค้าเกษตรต่างๆ ซึ่งจะมีผลให้การส่งออกปีนี้ติดลบหนักได้ ขณะที่การนำเข้าจะกลับติดลบหนักกว่าการส่งออก เพราะไทยเป็นผู้นำเข้าสุทธิน้ำมัน มากกว่า 10% การนำเข้า ซึ่งเมื่อราคาน้ำมันลง การนำเข้าโดยรวมก็จะลดลงด้วย อีกทั้งเอกชนจะชะลอการลงทุน มีผลให้การนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบหดตัวตาม โดยสรุป การส่งออกสุทธิ (ส่งออกหักนำเข้า)จะเติบโตได้ ทำให้ GDPไทยไม่ทรุดแรง
4.กลุ่มอุตสาหกรรมที่เสี่ยงจากราคาน้ำมันที่ลดลงได้แก่ กลุ่มสำรวจน้ำมัน กลุ่มเคมีปิโตรเลียม กลุ่มยาง ข้าว สินค้าเกษตร ปั๊มน้ำมัน และกลุ่มอื่นๆที่อาจขาดทุนสต๊อกน้ำมันและราคาสินค้าหรือรายได้เคลื่อนไหวตามราคาน้ำมัน
5.กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลงได้แก่ กลุ่มที่ได้กำไรจากต้นทุนที่ต่ำลง เช่น ขนส่ง สายการบิน การบริโภคกลุ่มท่องเที่ยว แต่น่าเสียดายที่กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิดเสียก่อน จนอาจไม่สามารถชดเชยได้
โดยสรุป นักเศรษฐศาสตร์อาจต้องออกมาปรับประมาณการเศรษฐกิจกันอีกรอบ GDP ไทยมีโอกาสโตได้ต่ำกว่า 0.5% ช่วงครึ่งปีแรก จากไวรัสโควิด แต่เมื่อราคาน้ำมันลงหนักเช่นนี้ เศรษฐกิจไทยอาจดูแย่ลง ซบเซาลง สินเชื่อโตช้าลง แต่จะเกิดการเติบโตทางเทคนิค (technical growth) จากการส่งออกสุทธิที่เติบโตหลังการนำเข้าหดตัวแรงกว่าการส่งออกที่ทรุด ซึ่งน่าจะพอพยุง GDP ให้ขยายตัวได้บ้าง แต่เมื่อเงินเฟ้อต่ำ กำลังซื้อหดหาย ก็มีโอกาสที่กนง.จะลดดอกเบี้ยได้ในรอบการประชุมวันที่ 25 มีนาคมนี้ สู่ระดับ 0.75%ต่อปี
ด้านค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าเพียงระยะสั้นจากความกังวลของนักลงทุนต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ แต่ไม่นานจะพลิกมาแข็งค่าเทียบสกุลอื่นรวมทั้งดอลลาร์สหรัฐฯจากการนำเข้าที่หดตัวแรง มีโอกาสเห็นเงินบาทลงต่ำกว่าระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือนนี้