2 มีนาคม 2563 : นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) โดยเฉพาะนอกประเทศจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งเอเชีย, ยุโรป และตะวันออกกลาง สร้างความกังวลต่อผลกระทบเศรษฐกิจเป็นวงกว้างมากขึ้น กดดันตลาดหุ้นทั่วโลกซึ่งรวมถึงตลาดหุ้นไทยดิ่งลงแรง และถือว่าขณะนี้ตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ “ภาวะหมี” แล้ว หลังดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ปรับตัวลงหลุดระดับ 1,480 จุด หรือปรับตัวลงมากกว่า 20% จากที่เคยขึ้นสูงสุดที่ 1,850 จุดในช่วงต้นปี 2561
“จากการศึกษาความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในช่วงภาวะหมี (Bear Market) ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา จะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 190 วันทำการ หรือประมาณ 9 เดือนจนกว่าราคาหุ้นในตลาดจะแตะจุดต่ำสุด และจะปรับตัวลงโดยเฉลี่ย 36% จากจุดสูงสุด ถ้าอิงเวลาสูงสุดของภาวะหมีที่เคยเกิดขึ้นในอดีต อาจเห็นจุดต่ำสุดของ SET Index ในช่วงปลายไตรมาส 2 เป็นอย่างช้าที่สุด หรือถ้าอิงตามค่าเฉลี่ยของการปรับตัวลงในภาวะหมีที่เคยเกิดขึ้น อาจได้เห็น SET Index แตะจุดต่ำสุดที่บริเวณ 1,180-1,200 จุด” นายอภิชาติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากสังเกตภาวะหมีในอดีตที่ SET Index ปรับตัวลงหนักๆ หรือลดลงเกินกว่า 50% ขึ้นไป จะเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติครั้งใหญ่ เช่น ในช่วงปี 2533 ที่เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย, ปี 2540 ที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง, ปี 2543 ที่เกิดวิกฤติ Dot-com และปี 2551 ที่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์
ดังนั้น หากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นเพียงปัจจัยระยะสั้นที่ส่งผลกระทบชั่วคราวคล้ายกับโรค SARS ในปี 2545 ซึ่งไม่ได้นำไปสู่วิกฤติครั้งใหญ่เหมือนภาวะหมีที่เคยเกิดขึ้น บล.ทิสโก้คาดว่าการปรับตัวลงในภาวะหมีในครั้งนี้ ดัชนีหุ้นไทยอาจจะปรับลดลงจากจุดสูงสุดประมาณ 21-34% จะคิดเป็นระดับ SET Index ในกรอบ 1,220-1,460 จุด โดยมีค่าเฉลี่ยกลางอยู่ที่ 1,350 จุด ซึ่งใกล้เคียงกับ SET Index ปิดสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ 1,340 จุด
นายอภิชาติ กล่าวว่า ถึงแม้การประเมินจุดต่ำสุดและระยะเวลาสิ้นสุดของตลาดหมีในแต่ละรอบไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จากการประเมิน SET Index ด้านอื่นๆ ประกอบ บล.ทิสโก้มองว่าหุ้นไทยในระดับปัจจุบันที่ 1,340 มีความน่าสนใจต่อการทยอยสะสมเพื่อการลงทุนอีกครั้งแล้ว เนื่องจาก 1. ราคาหุ้นค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาว 10 ปี ซึ่งการคำนวณนี้นับรวมการปรับประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยเพิ่มเติมอีก 3-4% หลังจากที่ต้นปีได้ปรับประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนไปแล้ว 5%
2. ส่วนต่างของผลตอบแทนตลาดหุ้นเทียบกับตลาดตราสารหนี้มีมากกว่า 4% ซึ่งมีโอกาสในการทำกำไรสูงถึงเกือบ 70% ในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า 3. ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงมาแล้ว 8 เดือนติดต่อกัน (กรกฏาคม 2562 – กุมภาพันธ์. 2563) เท่ากับการปรับตัวลงสูงสุดในอดีต ดังนั้น หากประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ตลาดหุ้นไทยในเดือน มีนาคมควรจะเริ่มดีดกลับได้แล้ว
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกอื่นมาหนุนตลาดหุ้นไทย ทั้งพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ที่จะเริ่มใช้จ่ายได้ตั้งแต่เดือน มีนาคมเป็นต้นไป และโอกาสที่ธนาคารกลางหลายแห่งพร้อมจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่ม (Dovish) หากแนวโน้มเศรษฐกิจเสี่ยงชะลอตัวรุนแรง ทำให้มองว่าถึงเวลาที่นักลงทุนควร “กล้า” มากกว่า “กลัว” แล้ว แนะนำนักลงทุนกลับมาเริ่มทยอยสะสมหุ้นแบบแบ่งไม้ซื้อ เน้นการซื้อแบบสม่ำเสมอ-ไม่รีบร้อน
โดยเฉพาะช่วงตลาดผันผวนตั้งแต่ดัชนีหุ้นไทย ต่ำกว่า 1,350 จุดลงมา หุ้นเด่นที่แนะนำในเดือน มีนาคม คือ AEONTS, BDMS, BTS, HMPRO, INTUCH, STEC, TOP และ TU ด้านแนวรับสำคัญของเดือนนี้อยู่ที่ 1,340 จุด แนวรับต่อมาคือ 1,320 จุด และแนวรับสุดท้ายคือ 1,300 – 1,290 จุด ส่วนแนวต้านสำคัญของเดือนนี้อยู่ที่ 1,360-1,370 หากผ่านได้จะมีแนวต้านต่อไปที่ 1,400-1,415 จุด ตามลำดับ