WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอาทิตย์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
ใครว่า “แกร็บ” กับ “แท็กซี่” อยู่ร่วมกันไม่ได้?

2 มีนาคม 2563 : หนึ่งในประเด็นร้อนแรงด้านคมนาคมที่ได้รับความสนใจจากสังคมเป็นอย่างมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา คือ การผลักดันนโยบายเปิดเสรีบริการรถส่วนบุคคลร่วมเดินทาง (Ride-Hailing) เพื่อส่งเสริมให้มีการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ให้บริการเป็นรถสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันได้อย่างถูกกฎหมาย

ในมุมของผู้โดยสารหรือผู้ใช้บริการนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า แอปเรียกรถได้เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตและช่วยตอบสนองความต้องการการเดินทางให้กับคนในยุคปัจจุบัน ทั้งในด้านความสะดวกสบาย มาตรฐานความปลอดภัย รวมถึงราคาที่เข้าถึง จนทำให้บริการดังกล่าวได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีบางคนที่แสดงความเป็นกังวลถึงประเด็นที่เทคโนโลยีหรือบริการรูปแบบใหม่เหล่านี้จะเข้ามาแย่งอาชีพและทำให้คนขับแท็กซี่ตกงาน

ในความเป็นจริงแล้ว มีคนขับแท็กซี่นับหลายหมื่นรายที่หันมาใช้แอปพลิเคชันเรียกรถเพื่อรับผู้โดยสารในปัจจุบัน เนื่องจากเห็นถึงประโยชน์ในด้านต่าง ๆ และพร้อมปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป หนึ่งในนั้นคือ จิรภัทร โสภาลัย ประธานเครือข่ายชมรมผู้ขับแท็กซี่ 4.0 และ กมลาสน์ กุลบันลือพิชญ์ ประธานชมรมแท็กซี่ไทยพัฒนา ที่ได้แชร์มุมมองของคนขับมืออาชีพที่มีต่อ “แอปเรียกรถ” ผ่านข้อดี 5 ประการ

1. เพิ่มช่องทางในการหารายได้

แอปเรียกรถช่วยทำให้คนขับแท็กซี่มีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะนอกจากจะรับผู้โดยสารที่โบกเรียกตามท้องถนนแล้ว ยังสามารถรับงานผ่านทางแอปพลิเคชันได้อีกทางด้วย ถือเป็นการเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ของคนขับ ทั้งยังช่วยลดเวลาในการตีรถเปล่าได้ถึง 30% ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาวนหาผู้โดยสาร ทั้งนี้ ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังได้เผยผลวิจัยเมื่อเร็ว ๆ นี้โดยระบุว่า 99% ของคนขับแท็กซี่ยืนยันว่าแอปเรียกรถช่วยให้เข้าถึงลูกค้าและทำให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น

นายจิรภัทร โสภาลัย ประธานเครือข่ายชมรมผู้ขับแท็กซี่ 4.0 กล่าวว่า “แต่ก่อนเราต้องขับรถไปเรื่อย ๆ รอให้ผู้โดยสารเรียก ทำให้สิ้นเปลืองต้นทุนค่าแก๊ส ค่าน้ำมัน รายได้ในแต่ละวันก็ไม่แน่นอน แต่ปัจจุบันพอมีเทคโนโลยีเข้ามา การใช้แอปเรียกรถทำให้คนขับแท็กซี่อย่างเรามีช่องทางในการหารายได้เพิ่มมากขึ้น สามารถเลือกไปในพื้นที่ที่มีลูกค้าอยู่หนาแน่นได้ เพิ่มโอกาสที่ลูกค้าจะกดเรียก

จากที่สอบถามเพื่อน ๆ สมาชิกในเครือข่ายที่ใช้แอปเรียกรถ แทบจะทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามีรายได้เพิ่มขึ้น หากเราให้บริการดี ลูกค้าให้คะแนนดี เรายังมีโอกาสได้โบนัสและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจากบริษัทผู้ให้บริการแอปด้วย ถ้าขยัน มีมานะอดทน และมีเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจน ผมการันตีว่าคนชับแท็กซี่จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 5 – 6 หมื่นบาทต่อเดือน”

2. เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีหรือผู้ให้บริการแอปพลิเคชันต่างให้ความสำคัญกับการลงทุนและการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการและความปลอดภัย ซึ่งไม่เพียงจะช่วยตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ แต่ยังทำให้คนขับทำงานได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การนำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) มาช่วยจับคู่ตำแหน่งของคนขับกับจุดหมายปลายทางของผู้โดยสาร ทำให้คนขับแท็กซี่ทราบจุดรับ-ส่งล่วงหน้า ซึ่งช่วยลดปัญหาการโบกแล้วไม่จอดรับหรือการปฏิเสธผู้โดยสารอย่างเป็นรูปธรรม หรือการนำระบบจีพีเอส (GPS) มาใช้ ซึ่งช่วยแนะนำเส้นทางที่รวดเร็วที่สุดให้กับคนขับ เพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัด

นอกจากนี้ แอปเรียกรถอย่างแกร็บยังมีฟังก์ชั่นแปลภาษาที่เรียกว่า “แกร็บแชต” (Grab Chat) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคนขับในการสื่อสารกับผู้โดยสารชาวต่างชาติได้อย่างราบรื่น ไร้ปัญหา ช่วยลดอุปสรรคในด้านการสื่อสาร ทั้งยังเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยวด้วย

3. เพิ่มความอุ่นใจด้านความปลอดภัย

ไม่ใช่แค่ผู้โดยสารเท่านั้นที่ต้องการความปลอดภัยในการเดินทาง คนขับแท็กซี่เองก็เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่ต้องขับรถไปส่งผู้โดยสารในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย สถานที่เปลี่ยว หรือในเวลาค่ำคืน ซึ่งอาจทำให้เกิดความกังวลในด้านสวัสดิภาพความปลอดภัยหรือการก่ออาชญากรรม แต่ประเด็นเหล่านี้หมดไปเมื่อมีแอปเรียกรถซึ่งมีเทคโนโลยีและมาตรฐานด้านความปลอดภัยต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างความอุ่นใจให้กับคนขับ เนื่องจากผู้ให้บริการแอปพลิเคชันมีเทคโนโลยีการยืนยันตัวตน (Biometric Authentication) ของทั้งคนขับและผู้โดยสาร จึงสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทันทีหากเกิดเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ ทั้งยังมีฟีเจอร์ Share My Ride ที่คนขับเองสามารถแชร์ข้อมูลการเดินทางในทุกเที่ยวรับ-ส่งให้เพื่อนหรือคนในครอบครัวรับทราบได้ตลอดว่าอยู่ตรงไหนแล้ว

ในกรณีที่มีปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลือ คนขับยังสามารถติดต่อ Call Center ได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือในกรณีฉุกเฉินก็มีปุ่ม SOS ให้สามารถติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอความช่วยเหลือได้ทันที นอกจากนี้ ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ แอปเรียกรถอย่างแกร็บยังได้ทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลที่ให้ความคุ้มครองกับคนขับในทุกเที่ยวการเดินทางเพิ่มเติมจาก พ.ร.บ. คุ้มครองและประกันภัยบุคคลที่ 3 โดยมีวงเงินคุ้มครองสูงสุดถึง 100,000 บาท รวมถึงทุนประกันชีวิตสูงสุดถึง 200,000 บาทด้วย

4. เพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงิน

ประโยชน์อีกประการที่หลายคนอาจไม่เคยทราบมาก่อน คือ แอปเรียกรถช่วยให้คนขับแท็กซี่ ซึ่งเป็นกลุ่ม Unbanked หรือผู้ที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินพื้นฐานจากสถาบันการเงินในระบบ อย่างบริการโอนเงิน ชำระเงิน ฝากเงิน และกู้เงิน มีโอกาสเข้าถึงบริการดังกล่าวมากขึ้น เนื่องจากคนขับจะได้รับเอกสารรับรองทางการเงิน (Income statement) จากบริษัทผู้ให้บริการแอป ซึ่งได้รับการยอมรับจากสถาบันการเงิน ทำให้สามารถใช้เป็นหลักฐานในการสมัครบริการสินเชื่อเงินสด (Digital lending) ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้นอกระบบถึง 30 เท่า นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้คนขับแท็กซี่สามารถกู้ซื้อสินทรัพย์ในระยะยาวอย่างรถยนต์ได้ ทำให้การมีรถแท็กซี่เป็นของตัวเองสักคันไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป

กมลาสน์ กุลบันลือพิชญ์ ประธานชมรมแท็กซี่ไทยพัฒนา กล่าวเสริมว่า “นอกจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากทั้งค่าโดยสาร โบนัส เงินจูงใจและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ แล้ว การใช้แอปเรียกรถทำให้เรามี statement ที่ช่วยรับรองรายได้ของคนขับแท็กซี่ ซึ่งธนาคารหรือสถาบันการเงินต่าง ๆ เชื่อถือและให้การยอมรับ ทำให้คนขับหลายคนที่เคยเช่ารถและอยากมีรถเป็นของตัวเองสามารถกู้เงินเพื่อซื้อรถเป็นของตัวเองได้”

5. เพิ่มศักยภาพและมาตรฐานการให้บริการ

การเข้ามาของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ๆ อย่างแอปเรียกรถทำให้คนขับแท็กซี่ต้องปรับตัวเพื่อพัฒนาความเข้าใจและศักยภาพเพื่อให้สามารถก้าวทันยุคดิจิทัลและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ถือเป็นโอกาสในการเรียนรู้และฝึกฝนพัฒนาตนเอง โดยแอปเรียกรถอย่างแกร็บยังมีการจัดอบรมต่าง ๆ ให้กับคนขับอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น เทคนิคการให้บริการ การขับขี่ปลอดภัย การดูแลสภาพรถยนต์ หรือแม้แต่คอร์สภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดหลักปฏิบัติและจรรยาบรรณของคนขับ รวมทั้งมีระบบควบคุมคุณภาพการให้บริการของคนขับแบบเรียลไทม์ ซึ่งครอบคลุมทั้งเรื่องประสิทธิภาพการรับงาน และการให้คะแนนจากผู้โดยสารเพื่อประเมินผลการทำงาน ซึ่งช่วยยกระดับมาตรฐานการให้บริการให้สูงขึ้น

“ผมขับแท็กซี่มา 20 กว่าปี เมื่อก่อนอยากขับก็ขับ รับผู้โดยสารบ้างไม่รับบ้าง พอเริ่มหันมาใช้แอปเรียกรถทำให้ผมเห็นจุดบกพร่องในด้านการบริการของตัวเอง ยิ่งภายหลังได้รับการอบรม เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เรียนรู้ความต้องการของลูกค้า และปฏิบัติตามกฎระเบียบที่บริษัทผู้ให้บริการแอปกำหนดไว้ ซึ่งส่วนใหญ่สอดคล้องกับระเบียบของกรมการขนส่งทางบกอยู่แล้ว มันเปลี่ยนทัศนคติของผมไปเลย ทำให้เรากลายเป็นคนอยากให้บริการ เราไปบอกต่อกับเพื่อน ๆ ในเครือข่ายว่า นี่แหละคือสิ่งที่อาชีพเราจะต้องทำและควรทำมานานแล้ว เราปล่อยปละละเลย หลายค่ายเอาผู้โดยสารไป จะไปว่าเขามาแย่งผู้โดยสารได้อย่างไร ในเมื่อเราเป็นคนไล่ผู้โดยสารไปเอง สู้มาปรับตัว กลับมาทำรถให้รถสะอาด พูดจาสุภาพกับผู้โดยสาร เขาก็หันมาใช้บริการแท็กซี่มากขึ้น” นายจิรภัทร กล่าวเสริม

ฟังเสียงสะท้อนจากคนขับมืออาชีพถึงประโยชน์ของแอปเรียกรถที่มีต่อวงการแท็กซี่อย่างนี้แล้ว ยิ่งช่วยตอกย้ำว่า ทั้งสองธุรกิจไม่ได้ยืนอยู่คนละมุมอย่างที่หลายคนกังวล แต่กลับส่งเสริมและเกื้อกูลกันเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและช่วยยกระดับมาตรฐานการคมนาคมขนส่งของไทยด้วย แล้วแบบนี้จะบอกว่าแอปเรียกรถอย่างแกร็บจะไม่สามารถอยู่ร่วมกับแท็กซี่ได้อย่างไร ?

ธุรกิจ ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP