WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันเสาร์ ที่ 23 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
สมาคมประกันชีวิตไทย คาดเบี้ยประกันชีวิตปี 63 ไม่เติบโต ชูประกันสุขภาพ-ยูนิตลิงค์-ประกันชีวิตแบบระยะยาว และประกันออนไลน์ ยังขยับขึ้นได้

19 กุมภาพันธ์ 2563 : สมาคมประกันชีวิตไทย คาดการณ์ปี 2563 ธุรกิจประกันชีวิตจะไม่มีการเติบโต โดยจะมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 610,000 ล้านบาท เหตุปัจจัยท้าทายรอบด้าน เผยจับตลาด 4 ด้านยังโตได้สวย ประกันสุขภาพ-ยูนิตลิงค์-ประกันชีวิตแบบระยะยาว และประกันออนไลน์ ส่วนธุรกิจประกันชีวิตปี 2562 ที่ผ่านมาเติบโตลดลงที่ร้อยละ 2.63 ด้วยผลงานเบี้ยประกันภัยรับรวม 610,914.11 ล้านบาท และมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ที่ร้อยละ 80

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า สำหรับปี 2563 คาดว่าธุรกิจประกันชีวิต จะมีเบี้ยประกันภัยรับรวม ประมาณ 610,000 ล้านบาท ไม่มีการเติบโต เหตุเพราะการดำเนินงานยังคงต้องเผชิญกับความกดดันจากปัจจัยท้าทายของปีที่ผ่านมาซึ่งยังคงมีผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงปัจจัยจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ของประเทศไทยในปีนี้ที่ร้อยละ 1.5 เหตุเศรษฐกิจของประเทศได้เผชิญกับปัจจัยลบจากการท่องเที่ยวที่หดตัวลง

อันเป็นผลสืบเนื่องจากการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 สภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศจากปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่กล้าใช้จ่าย ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ไปกับปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และนำเงินบางส่วนไปใช้ชำระหนี้ภาคครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยกระทบด้านภูมิศาสตร์ ภาวะภัยแล้ง ภาวะการว่างงาน ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และก้าวสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น ผู้บริโภคมีความต้องการเฉพาะเจาะจง ธุรกิจประกันชีวิตจึงต้องมีการปรับตัว และมีการลงทุนเกี่ยวกับนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อป้องกัน digital disruption และสังคมสูงวัย ซึ่งเป็นได้ทั้งปัจจัยที่ท้าทายและปัจจัยส่งเสริมธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่อาจทำให้ธุรกิจประกันชีวิตสามารถเติบโตได้มาจากปัจจัยส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ เช่น การอนุมัติโครงการสาธารณูปโภค การเบิกจ่ายงบประมาณที่ยังคงค้าง การส่งเสริมการท่องเที่ยว และมาตรการส่งเสริมธุรกิจประกันชีวิตโดยหน่วยงานกำกับ ซึ่งล่าสุดได้มีประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง การลงทุนประกอบธุรกิจอื่นของบริษัทประกันชีวิต / บริษัทประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2563 ออกเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจประกันภัยไทยให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะอัตราดอกเบี้ยขาลง โดยการเปิดกว้างให้บริษัทประกันสามารถลงทุนได้มากขึ้นในหลากหลายรูปแบบ

อีกทั้งยังมีปัจจัยส่งเสริมจากภาคธุรกิจ อาทิ บริษัทประกันชีวิตมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายตรงกับตามความต้องการของประชาชน และมุ่งพัฒนาช่องทางการจำหน่ายให้หลากหลาย นอกเหนือจากการจำหน่ายผ่านตัวแทนฯ เช่น การขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบบออนไลน์ แอปพลิเคชันต่าง ๆ การขายผ่านร้านค้าสะดวกซื้อ เป็นต้น พร้อมทั้งพัฒนารูปแบบการให้บริการให้ทันสมัย สะดวกสบาย และสร้างความประทับใจในการใช้บริการ เพื่อรองรับ

Life Style ของลูกค้าแต่ละราย การตระหนักรู้ของประชาชนเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมสู่วัยเกษียณ จึงทำให้ประชาชนให้ความสำคัญต่อการบริหารความเสี่ยง การวางแผนคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ การหาผลตอบแทนด้วยช่องทางการลงทุนใหม่ๆ ที่ให้ทั้งความคุ้มครองและผลตอบแทนในแง่ของการลงทุน

สำหรับทิศทางธุรกิจประกันชีวิตปี 2563 ธุรกิจประกันชีวิตจะต้องปรับลดการขายผลิตภัณฑ์ที่เคยให้ผลตอบแทนสูงเช่น Single Premium หรือแบบประกันชีวิตที่การันตีผลตอบแทนออกจากตลาด เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง โดยเน้นผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน เช่น ยูนิตลิงก์ (Unit- Linked ) ผลิตภัณฑ์ที่ให้ความคุ้มครองระยะยาว เช่น แบบประกันชีวิตตลอดชีพ แบบประกันบำนาญ สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพ รวมถึงช่องทางการจำหน่ายผ่านออนไลน์ก็จะได้รับความสนใจ

นอกจากนี้ ล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ.ประกาศการลงทุนฉบับใหม่ เพื่อเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศเป็น 30% (จากเดิมให้ลงทุนได้เพียง 15%) อีกทั้งยังขยายสัดส่วนการลงทุนในพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์เป็น 25% จากเดิมที่ลงทุนในต่างประเทศได้เพียง 5% และลงทุนในประเทศได้ 20% ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มทางออกให้กับบริษัทประกันได้หาผลตอบแทนได้มากขึ้น

รวมไปถึงยังกำหนดมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ตามระดับความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (100%) โดยแบ่งเป็น 3 ระดับของความแข็งแกร่งของบริษัท แบบแรกสำหรับบริษัททั่วไป ความเสี่ยงตามอัตราแลกเปลี่ยนต้องไม่น้องกว่า 75% ของมูลค่ากระแสเงินสดรับจ่าย แบบที่สอง หากบริษัทฯ นั้นๆ มีอัตราความเพียงพอของเงินกองทุน (CAR) อยู่ระหว่าง 250-380% อาจป้องกันความเสี่ยงได้ไม่น้อยกว่า 50% ของมูลค่ากระแสเงินสดรับจ่าย และแบบที่สาม มีความแข็งแกร่งของเงินกองทุนสูงถึง 380% ขึ้นไปสามารถป้องกันความเสี่ยงได้ตามเหมาะสม หรือ 0% นั่นเอง

ถึงแม้ปี 2563 จะยังเป็นปีที่ท้าทายสำหรับธุรกิจประกันชีวิต หากแต่ยังมีความเชื่อมั่นว่าธุรกิจประกันชีวิตจะยังคงเติบโตได้ดีเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น เพราะธุรกิจประกันชีวิตมีความจำเป็นต่อการบริหารความเสี่ยงของคนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจชะลอตัว ค่ารักษาพยาบาลที่มีการปรับตัวสูงขึ้นทุกปีตามวิวัฒนาการทางการแพทย์ ตลอดจนการตระหนักรู้ของประชาชนจากภาวะโรคอุบัติใหม่ หรือการแพร่กระจายของโรค เช่น การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ประกันชีวิตและประกันสุขภาพจะให้ความคุ้มครองชีวิตและค่ารักษาพยาบาลตามจำนวนเงินผลประโยชน์ที่กำหนดไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย

นอกจากนี้แล้วภาคธุรกิจยังได้มีการตั้งรับและเตรียมตัวอย่างดีต่อปัจจัยท้าทายรอบด้าน พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือทั้งจากทางภาคอุสาหกรรมและหน่วยงานกำกับ โดยมีสมาคมประกันชีวิตไทยเป็นแกนกลางในการประสาน พันธกิจต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยท้าทาย ทั้งในรูปแบบรับฟังความคิดเห็น การจัดตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อยเพื่อทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เช่น ว่าจ้างที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายมาช่วยแนะนำผลกระทบของธุรกิจประกันชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ ต่อพรบ.ข้อมูลส่วนบุคคล

คณะทำงานเรื่องผลกระทบมาตรฐานรายงานทางการเงิน IFRS17 คณะทำงานเรื่องผลกระทบจากภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งนำไปสู่การทดสอบ RBC 2 การดำรงเงินกองทุน และคณะทำงานเกี่ยวกับความจำเป็นทางการแพทย์ โดยมีคณะกรรมการบริหารสมาคมเป็นประธานเพื่อกำกับและติดตามงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ธุรกิจประกันชีวิตสามารถแข่งขัน และเติบโตได้อย่างยั่งยืนไม่ว่าเศรษฐกิจจะมีทิศทางอย่างไรก็ตาม นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวเพิ่มเติม

ในปี 2562 ที่ผ่านมา ตัวเลขการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตไม่สูงเหมือนในอดีตที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจากปัจจัยท้าทายต่าง ๆ ที่ธุรกิจประกันชีวิตต้องเผชิญ อาทิ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอันเป็นผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา มาตรการจากภาครัฐ อาทิ จากหลักเกณฑ์ในเรื่องมาตรฐานรายงานทางการเงิน IFRS17 พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล(Privacy Law) การยกระดับพฤติกรรมทางการตลาดของธุรกิจประกันชีวิต (Market Conduct) ที่กระทบต่อตัวแทนและนายหน้า ซึ่งจะเห็นผลชัดเจนจากตัวเลขของช่องทางการเติบโตของแบงก์แอสชัวรันส์ที่ลดลงกว่าปีที่ผ่านมาถึง ร้อยละ 10.66

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของอัตราความเสียหาย จากคนกลางและการฉ้อฉลประกันภัย (Fraud & Abuse) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการรับประกันสุขภาพ การเผชิญกับภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำที่กระทบต่อการลงทุนและผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต

จากปัจจัยท้าทายเหล่านี้ส่งผลให้ธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันชีวิตรับรวม (มกราคม – ธันวาคม 2562) 610,914.11 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตลดลงร้อยละ 2.63 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จำแนกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรายใหม่ (New Business Premium) จำนวน 178,487.45 ล้านบาท อัตราเติบโตลดลงร้อยละ 1.07 โดยแยกเป็นเบี้ยประกันชีวิตรับปีแรก 108,737.99 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.65 เบี้ยประกันภัยรับจ่ายครั้งเดียว 69,749.45 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 17.68 เบี้ยประกันชีวิตปีต่อไป (Renewal Year Premium) 432,426.66 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 3.25 ซึ่งมีอัตราการคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิตร้อยละ 80

สำหรับเบี้ยประกันภัยรับจำแนกตามช่องทางการจำหน่าย ปี 2562 เป็นดังนี้

อันดับ 1 การขายผ่านตัวแทนประกันชีวิต จำนวน 315,616.85 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 51.66 หรือเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.32 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา

อันดับ 2 การขายผ่านธนาคาร จำนวน 250,564.71.ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 41.01 หรือเติบโตลดลงร้อยละ 10.66 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา

อันดับ 3 การขายผ่านช่องทางการตลาดแบบตรง 14,908.58 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 2.44 หรือเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.01 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา

อันดับ 4 การขายผ่านช่องทางอื่น ๆ 29,823.95 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 4.88 หรือเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.99 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา

ประกันชีวิต ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP