27 มกราคม 2563 : ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ทยอยประกาศผลประกอบการปี2562 ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และผลประกอบการที่ออกมาหักปากกสเซียนกันถ้วนหน้าแบบไม่มีเยื้อใย โดยเฉพาะแบงก์ไทยพาณิชย์ ที่กำไรออกมาทำเอานักลงทุนจุกอก ขณะที่แบงก์ทหารไทยกำลังรวมกับแบงก์ธนชาต ก็ออกมาแย่เช่นเดียวกัน เว้นแต่ธนาคารกรุงศรีอยุทธยา ธนาคารกรุงไทย ธนาคมรทิสโก้ และธนาคารเกียรตินาคินที่กำไรออกมาค่อนข้างดีมาก
ส่วนสัปดาห์นี้ หุ้นไทยเป็นอย่างไรนั้น ฝ่ายวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ กสิรไทย จำกัดระบุว่า สำหรับสัปดาห์นี้ (27-31 ม.ค.) ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,555 และ 1,545 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,575 และ 1,590 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลประกอบการไตรมาส 4/62 ของบจ. ความชัดเจนเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 การประชุมเฟด (28-29 ม.ค.) สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ประเด็นการค้าสหรัฐฯ-จีน รวมถึงประเด็น BREXIT
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/62 ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รวมถึงรายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนธ.ค. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/62 ของยูโรโซน รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเดือนม.ค.ของจีน
ส่วนดัชนีตลาดหุ้นไทยสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีปรับตัวลงหลุดระดับ 1,600 จุด โดยดัชนีฯ ปิดที่ 1,569.55 จุด ลดลง 1.93% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 63,395.11 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.97% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.71% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 306.60 จุด
ตลาดหุ้นไทยร่วงลงช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงขายในหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังผลประกอบการของธนาคารบางแห่งออกมาค่อนข้างอ่อนแอ ขณะที่การเคลื่อนไหวในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ยังเป็นการทยอยปรับลดลงท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในจีน รวมถึงมีการยืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ความกังวลต่อความไม่แน่นอนของพ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ยังเป็นอีกปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ด้วยเช่นกัน
สำหรับค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ (27-31 ม.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.30-30.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ประกอบด้วย สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จากจีน ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (28-29 ม.ค.) และธนาคารกลางอังกฤษ (30 ม.ค.) ประเด็น BREXIT รวมถึงรายงานเศรษฐกิจการเงินของไทยในเดือนธ.ค. 62
ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้-รายจ่ายส่วนบุคคลและอัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนี PCE/Core PCE Price Index ในเดือนธ.ค. ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค. และตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/62 (advanced)
เงินบาททยอยอ่อนค่าลง ทั้งนี้ เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาคท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ เพื่อทำกำไรหลังเงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนก่อนหน้านี้จากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด
อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงเช่นเดียวกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค นำโดย เงินหยวนของจีน ซึ่งมีปัจจัยกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่เริ่มมีการยืนยันผู้ติดเชื้อในหลายๆ ประเทศ นอกจากประเทศจีน ในวันศุกร์ (24 ม.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 30.56 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 30.39 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (17 ม.ค.)