14 มกราคม 2563 : นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า ในปี 2562 กลุ่มทิสโก้ยังคงสามารถรักษาผลกำไรสุทธิในระดับที่น่าพอใจ โดยเฉพาะธุรกิจการขายประกันผ่านช่องทางธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันส์) อีกทั้งยังได้ต่อยอดการให้บริการจากที่ปรึกษาการลงทุน (Investment Advisory) สู่บริการให้คำแนะนำที่ครอบคลุมการวางแผนการเงินที่มีการคุ้มครองความเสี่ยง (Protection Advisory) ผ่านการเป็นพันธมิตรร่วมกันบริษัทประกันชั้นนำในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ให้ประโยชน์และตรงกับความต้องการของลูกค้า
ในส่วนของธุรกิจสินเชื่อของกลุ่มทิสโก้สามารถเติบโตได้ที่ระดับ 1% จากการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อจำนำทะเบียน โดยเฉพาะสินเชื่อที่ปล่อยผ่านช่องทาง “สมหวัง เงินสั่งได้” ตามแผนการขยายเครือข่ายสาขาไปทั่วประเทศ โดยยังคงตั้งเป้าหมายขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีก 50 สาขาทั่วประเทศ
ในปี 2562 กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิ 7,270 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 255 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.6% ขณะที่ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4 ของปี 2562 มีกำไรสุทธิ 1,865 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 139 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.1% โดยผลกำไรที่ปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลักที่ขยายตัว ทั้งรายได้ค่านายหน้าธุรกิจประกันภัย และค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุน ประกอบกับค่าใช้จ่ายหนี้สูญที่ปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ บริษัทได้เตรียมความพร้อมในเรื่องของระบบและแนวทางการตั้งสำรอง เพื่อรองรับมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (TFRS 9) ซึ่งเริ่มใช้จริงในวันที่ 1 มกราคม 2563 แล้ว ขณะเดียวกันกลุ่มทิสโก้ยังสามารถรักษาระดับอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) ให้อยู่ในระดับสูงที่ 18.9%
สรุปผลประกอบการปี 2562
ผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้รอบปี 2562 บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 7,270 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% จากการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลง โดยรายได้รวมปรับตัวลดลง จากการลดลงของกำไรพิเศษจากเงินลงทุนซึ่งรับรู้ในช่วงปี 2561 ส่วนรายได้จากธุรกิจหลักปรับตัวดีขึ้น 0.5% โดยสาเหตุหลักมาจากธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่ยังคงขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง และธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุนจากการบริหารกองทุนที่สร้างผลตอบแทนได้ในระดับที่ดี
อย่างไรก็ตาม ค่าธรรมเนียมจากเงินให้สินเชื่อปรับตัวลดลง เป็นไปตามเกณฑ์การควบคุมค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ในส่วนของค่าใช้จ่ายจากการดำเนินธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.9% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับค่าใช้จ่ายชดเชยด้านพนักงานเกษียณอายุตามกฎหมายฉบับใหม่ อย่างไรก็ดี บริษัทตั้งสำรองหนี้สูญลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่เงินสำรองยังอยู่ในระดับที่เพียงพอและพร้อมสำหรับการเริ่มใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (TFRS 9) ทั้งนี้ บริษัทยังคงรักษาอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ยในระดับสูงที่ 18.9%
สำหรับเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีจำนวน 242,963 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.0% จากปีก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อจำนำทะเบียน โดยสินเชื่อจำนำทะเบียน ภายใต้แบรนด์ “สมหวัง เงินสั่งได้” ซึ่งเป็นไปตามแผนการขยายธุรกิจและการขยายสาขาสำนักอำนวยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.4% และมีระดับเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) อยู่ที่ 176.6% ส่วนอัตราส่วนของเงินสำรองรวมของธนาคารต่อสำรองพึงกันตามเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่ 216.5%
ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งมาโดยตลอดทั้งปี โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 22.4% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 17.6% และ 4.8% ตามลำดับ