WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันจันทร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
เมื่อก.ล.ต.ขอเป็นผู้นำ เรียกร้องการลงทุนอย่างยั่งยืน “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”!!

13 มกราคม 2563 : ความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ “ESG” เป็นเรื่องที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต สภาพความเป็นอยู่ของคนในชุมชนและสังคมแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ต้นทุนการระดมทุน มูลค่าสินทรัพย์ ผลการดำเนินงาน ความอยู่รอดของธุรกิจ ตลอดจนการเติบโตอย่างยั่งยืนของกิจการ รวมถึงผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับด้วย

ก.ล.ต. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุน จึงมุ่งส่งเสริมกิจการในตลาดทุนให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด ผ่านการจัดกิจกรรมที่สร้างความตระหนักรู้ และนำ ESG ไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างคุณค่าในกระบวนการทำธุรกิจ ตลอดจนเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้สังคมและผู้ลงทุนรับทราบ เพื่อให้สามารถใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนได้

โดยผลักดันให้ผู้ลงทุนสถาบันต่าง ๆ นำประเด็นด้าน ESG มาประกอบการวิเคราะห์ คัดเลือกหลักทรัพย์ และตัดสินใจลงทุนภายใต้ “หลักธรรมาภิบาลการลงทุน” หรือ I Code ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติในการลงทุนในกิจการที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ที่จะส่งผลให้ผลตอบแทนของเงินลงทุนเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

นางสาวเสาวนีย์ สุวรรณรงค์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายธุรกิจจัดการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประธานกรรมการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้ออกมาระบุว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรา ขณะเดียวกันล้วนเป็นปัจจัยที่นำไปสู่ความเสี่ยงต่อภาคประชาชนและภาคธุรกิจในระดับที่สูงขึ้นหากทุกฝ่ายไม่ตระหนักและร่วมกันรับผิดชอบ อาทิ ผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมที่มีต่อการท่องเที่ยวและผลผลิตทางการเกษตร ผลกระทบด้านสังคมในการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรมของกิจการ รวมถึงการผลิตและบริการที่เชื่อมโยงกับชุมชน สังคม และธุรกิจต่อเนื่องอื่น รวมทั้งผลกระทบต่อการบริหารจัดการและผลการดำเนินงานของกิจการอันเนื่องจากการขาดธรรมาภิบาลที่ดี เช่น ทุจริต หรือ ฉ้อโกง

หลายคนอาจมองว่า การประกอบธุรกิจที่คำนึงถึง ESG ทำให้กิจการมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายสูงขึ้น แต่ในความเป็นจริง นอกจาก ESG จะส่งเสริมภาพลักษณ์ของกิจการแล้ว ยังอาจช่วยสร้างรายได้ หรือ พัฒนากระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนอีกด้วย เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในโรงงาน การเปลี่ยนขยะเป็นเชื้อเพลิงเพื่อลดต้นทุนการผลิต หรือแปรรูปขยะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม การคิดค้นสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นการสร้างคุณค่าแก่สินค้า ขยายตลาดใหม่ และเพิ่มรายได้จากกลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

จึงไม่แปลกใจที่ผู้ลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักลงทุนสถาบันต่างให้ความสำคัญและนำเรื่อง ESG ประกอบการตัดสินใจลงทุน จากสถิติการลงทุนที่ยั่งยืนทั่วโลกมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 23 ล้านล้านเหรียญในปี 2559 มาอยู่ที่ 31 ล้านล้านเหรียญในปี 2561 คิดเป็นหนึ่งในสามของสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) ทั้งหมดของผู้ลงทุนสถาบัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยปัจจุบันมีกองทุนหุ้นมากกว่า 1,500 กองที่เลือกลงทุนในกิจการที่ปฏิบัติตามกรอบ ESG มูลค่าสินทรัพย์รวม 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2553 ขณะที่บริษัทจดทะเบียนไทยหลายรายก็ได้คะแนน ESG ดีในระดับเวทีโลก ทำให้มีโอกาสได้รับความสนใจและได้รับเงินทุนมากกว่าด้วย

สำหรับกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันในประเทศต่างให้ความสำคัญกับการลงทุนที่ยั่งยืนมากขึ้นเช่นกัน โดยปัจจุบันมีหน่วยงานเข้าร่วมรับการปฏิบัติตาม I Code จำนวน 64 ราย ในจำนวนดังกล่าวมี บลจ. 27 ราย ยิ่งไปกว่านั้นยังมี บลจ. อีก 22 ราย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และผู้ลงทุนสถาบันอื่น ๆ อีก 10 ราย (มี AUM รวมกันกว่า 10.8 ล้านล้านบาท) ที่ประกาศเจตนารมณ์ลงนามแนวปฏิบัติการระงับลงทุนในบริษัทที่ไม่คำนึงถึง ESG (Negative List)

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ถือเป็นกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันที่สำคัญอีกกลุ่มหนึ่ง โดยปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 377 กองทุน จากนายจ้างจำนวน 19,316 ราย จำนวนสมาชิกรวม 3.06 ล้านกว่าคน ขนาดเงินลงทุนรวมกันใหญ่กว่า 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเงินลงทุนของสมาชิกเพื่อใช้ยามเกษียณ ดังนั้น จะดีหรือไม่หากเราในฐานะสมาชิกกองทุนเรียกร้องผู้จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ “ไม่ให้ลงทุนในกิจการที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล” เพราะการเลือกลงทุนที่ถูกต้องย่อมมีผลอย่างมากต่อผลตอบแทนในระยะยาวของสมาชิกกองทุน

ก.ล.ต. ขอเป็นต้นแบบการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยกำหนดแนวนโยบายให้กับ บลจ. ที่บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงาน ก.ล.ต. ให้ดำเนินตามแนวนโยบาย ESG โดย “ไม่ให้ลงทุนในกิจการที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล” เพื่อเน้นการสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืน และมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้สิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน ดำรงอยู่และเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

ก.ล.ต. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การผลักดันเรื่องดังกล่าวจะเห็นผลเป็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกันในตลาดทุนและภาคการเงินต่อไป เพราะ “หากโลกยั่งยืน ธุรกิจก็ยั่งยืน ผลการลงทุนก็ยั่งยืน”

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP