10 มกราคม 2563 : ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค.62 อยู่ที่ 68.3% จากเดือน พ.ย. 62 ที่อยู่ในระดับ 69.1% ปรับตัวลดลงต่อเนื่องต่ำสุดในรอบ 68 เดือน จากความกังวลสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมือง
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมเดือน ธ.ค.อยู่ที่ 56.0% ลดลงจากเดือน พ.ย.62 ที่อยู่ในระดับ 56.4% ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำเท่ากับ 64.8% ลดลงจาก 65.4% ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 84.2% ลดลงจาก 85.6% เช่นกัน
สำหรับปัจจัยลบ ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 62 คาดว่าจะขยายตัว 2.5% จากเดิมที่คาดว่า 2.8% ส่วนในปี 63 คาดว่าจะขยยายตัว 2.8% จากเดิมที่คาดไว้ 3.3% เนื่องจากการส่งออกสินค้าที่ผ่านมาหดตัวกว่าที่ประเมินและมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดตามการค้าโลกที่ชะลอลงจากสงครามการค้าสหรัฐฯกับจีน
โดยประเมินการส่งออกไทยปี 62 ติดลบ 3.3% ส่วนปี 63 คาดส่งออกขยายตัว 0.5% ตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนพ.ย. 62 ลดลง -7.39%, ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะข้าวเปลือกเจ้า ยางพารา และมันสำปะหลัง ส่งผลรายได้ของเกษตรส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในต่างจังหวัดขยายตัวไม่มากนัก
สำหรับปัจจัยที่เป็นปัจจัยบวก ได้แก่ กนง.มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ต่อปี ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเริ่มเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งจะเป็นการช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4/62 เติบโตอย่างต่อเนื่อง และสร้างแรงส่งให้เศรษฐกิจในปี 63 ขยายตัวอย่างมีศักยภาพ เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น แต่ภาพรวมเงินบาทยังแข็งค่ามากกว่าการแข็งค่าของเงินสกุลของประเทศคู่แข่งในปัจจุบัน ยังส่งผลกระทบในเชิงลบกับผู้ส่งออกโดยรวมอยู่เช่นเดิม