3 มกราคม 2563 : นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2562 ที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกให้ผลตอบแทนประมาณ 24% ผลบวกจากธนาคารกลางสำคัญๆ กลับมาใช้นโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายเพื่อรองรับความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว (MSCI DM Index) ให้ผลตอบแทน 25% ดีกว่าตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ (MSCI EM Index) ที่ให้ผลตอบแทน 15%
แต่สำหรับตลาดหุ้นไทยกลับให้ผลตอบแทนเพียง 1% อยู่ในอันดับท้ายๆ เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลก เนื่องจากกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยหดตัวเป็นปีที่สองติดต่อกันและมากกว่าที่คาดไว้ ส่วนหนึ่งมาจากความผันผวนของราคาน้ำมันที่กดดันกำไรของหุ้นในกลุ่มพลังงาน กลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งการตั้งสำรองพนักงานเกษียณอายุตามกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ การปรับตัวเพื่อรองรับการใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ และปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ
สำหรับในปี 2563 บล.ทิสโก้มีมุมมองตลาดหุ้นไทยแบบ “เชิงบวกอย่างระมัดระวัง” โดยคาดว่าในไตรมาสที่ 1/2563 ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นและมีโอกาสทะลุ 1,600 จุดได้ จากปัจจัยบวกหลายประการ ประการแรก
ปัจจัยกดดันต่างประเทศคลี่คลาย ทั้งประเด็นสหรัฐฯ และจีนบรรลุข้อตกลงการค้าเฟส 1 และกระบวนการ Brexit น่าจะราบรื่นเป็นผลดีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2563 ประการที่สอง คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารสำคัญๆ ทั่วโลกจะอยู่ในระดับนี้ไปตลอดทั้งปี 2563 ประกอบกับธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มดำเนินมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ ซึ่งนโยบายการเงินดังกล่าวเป็นผลดีต่อราคาสินทรัพย์เสี่ยงโดยรวม
ประการที่สามแนวโน้มราคาน้ำมันน่าจะสูงขึ้นในระยะสั้น โดยคาดว่าราคาน้ำมันจะแตะระดับสูงสุดใหม่ในรอบ 3 เดือน หลังกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตร (OPEC+) ตกลงลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มอีก 5 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงไตรมาสที่ 1/2563 ซึ่งจะเป็นผลดีต่อแนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนใน ไตรมาสที่ 4/2562 ต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 1/2563
ประการที่ 4 คาดว่างบประมาณประจำปี 2563 ของไทยจะมีผลบังคับใช้ปลายเดือน ม.ค. ซึ่งบล.ทิสโก้ประเมินว่าจะทำให้รัฐบาลมีเม็ดเงินงบประมาณในมือกว่า 2.2 แสนล้านบาทสำหรับการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ประเด็นนี้น่าจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนได้
ประการสุดท้าย จากข้อมูลเชิงบวกทางสถิติ บ่งชี้ว่าไตรมาสที่ 1 ของทุกปีนับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ตลาดหุ้นไทยจะปรับขึ้นเฉลี่ยประมาณ 6.2% ในทุกๆ ปี เพราะนักลงทุนมักจะเข้าซื้อเพื่อหวังเงินปันผล และช่วงต้นปีนักลงทุนมักมองการเติบโตเศรษฐกิจ รวมถึงกำไรบริษัทจดทะเบียนในแง่บวกเสมอ
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาถึง “Earning Yield Gap” ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่นิยมใช้วัดความน่าสนใจของตลาดหุ้นเมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตร พบว่าอยู่ในระดับที่ไม่แพงที่ประมาณ 3.2-3.3% ซึ่งเป็นระดับค่าเฉลี่ยในระยะยาว และหากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในปี 2563 เป็นไป
ตามที่ บล.ทิสโก้คาดว่าจะเติบโต 8% แล้ว จะยิ่งทำให้ราคาหุ้นในอนาคตปรับเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ เมื่ออิงจากระดับ Earning Yield Gap ที่ค่าเฉลี่ย 3.2% ตามข้างต้นแล้ว บล.ทิสโก้จึงมองว่าในปี 2563 มีโอกาสที่หุ้นไทยจะปรับขึ้นไปแตะระดับ 1,700 จุดได้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามคือ (1) การเจรจาการค้าในเฟสถัดๆ ไป (2) การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปลายปีนี้ (3) แนวโน้มที่เม็ดเงิน LTF เก่าๆ จะเริ่มทยอยไหลออก (4) พัฒนาการทางการเมือง และ (5) การใช้ 6 มาตรฐานบัญชีใหม่เริ่มวันที่ 1 ม.ค. ด้วยเดือน ม.ค. เริ่มต้นเข้าสู่ช่วงฤดูกาลประกาศผลประกอบการและจ่ายเงินปันผลประจำปี บล.ทิสโก้ยังชอบธีมหุ้นปันผลที่อยู่ในดัชนี SET HD ต่อเนื่องจากเดือนที่แล้ว เนื่องจากราคาหุ้นมักจะปรับตัวมากกว่าตลาด (Outperform) เสมอในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. ของทุกปี
หุ้นที่บล.ทิสโก้แนะนำในเดือน ม.ค. คือ AP, INTUCH, IRPC, KKP, SUSCO, TVO และ VNT ทั้งนี้ หุ้น AP, INTUCH, IRPC และ KKP เป็นหุ้นขนาดกลาง-ใหญ่ที่อยู่ในดัชนี SET HD ขณะที่หุ้น SUSCO, TVO และ VNT เป็นหุ้นขนาดเล็กที่อยู่นอกดัชนี SET HD แต่มีประวัติการจ่ายเงินปันผลดี
ดังนั้น บล.ทิสโก้จึงมองทุกการย่อตัวของตลาดเป็นจังหวะในการสะสมหุ้นเพิ่ม เพื่อหวังผลการลงทุนในรอบ 3-4 เดือนข้างหน้า ด้านแนวรับ และแนวต้านสำคัญของดัชนีหุ้นไทยเดือนนี้แบ่งออกเป็น 1,540 – 1,550 จุด หากผ่านได้จะมีแนวรับและแนวต้านถัดไปที่ 1,590 -1,600 จุด และ 1,640 – 1,650 จุด ตามลำดับ