26 พฤศจิกายน 2562 : นายอรินทร์ จิรา ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน หรืออาเซียน-แบค (ASEAN Business Advisory Council : ASEAN-BAC) และ มร.ไบรอัน เดวิดสัน เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตนารมณ์ (Letter of Intent) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่รัฐบาลอังกฤษจะให้การสนับสนุนศึกษา Global Trade Program ของสภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council : ASEAN-BAC) ในการให้บริษัทที่ปรึกษามาศึกษากฎระเบียบและเอกสารที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ ระเบียบและเอกสารด้านการซื้อการขาย การขนส่ง การทำประกันภัย การชำระเงินและการให้สินเชื่อด้านการค้าที่ใช้อยู่ในกลุ่มอาเซียนในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ผลการศึกษาจะนำมาประเมินเพื่อจัดทำแนวทางปฏิบัติที่ดีและเหมาะสม (Best Practice) ให้ภาคเอกชนในกลุ่มอาเซียนนำไปปรับปรุงกระบวนการทำงานและเอกสารให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลอย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นจนจบ รวมถึงแนวทางที่ภาคเอกชนจะทำงานเชื่อมต่อกับ National Single Window และ ASEAN Single Window ที่ภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่ โดยทำงานร่วมกับทีมงานที่สภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจอาเซียนจะจัดตั้งขึ้น คณะทำงานของสานักงานเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) และผู้ที่เกี่ยวข้องจากทั้งภาครัฐและเอกชนของกลุ่มอาเซียน รวมถึงประเทศคู่ค้าสำคัญ
อนึ่ง โครงการสนับสนุน Global Trade Program ของรัฐบาลอังกฤษ เป็นโครงการหนึ่งที่แสดงถึงความตั้งใจและความสัมพันธ์ที่ดีของรัฐบาลและประชาชนอังกฤษต่ออาเซียนในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) การเสริมสร้างการเชื่อมอย่างไร้รอยต่อ (Seamless Connectivity) การยกระดับการพัฒนาและการเข้าถึงแหล่งเงินของเอสเอ็มอี การยกระดับความสามารถและความเป็นอยู่ของประชาชนการปรับเปลี่ยนการค้าขายระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนไปสู่ระบบดิจิทัล (ASEAN Regional Digital Trade Transformation) จะเป็นการยกระดับการค้าขายระหว่างประเทศในอาเซียนอย่างก้าวกระโดดเพราะจะช่วยให้การค้าระหว่างประเทศในอาเซียนและประเทศคู่ค้าสำคัญมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เนื่องจากทำได้รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ ลดเวลา และขั้นตอนในการทำธุรกรรม และมีต้นทุนที่ถูกลง ซึ่งจะช่วยให้เอสเอ็มอีมีโอกาสและสามารถทำการค้าและขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้การทำธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัลทั้งวงจรยังเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ เป็นการลดโอกาสของการใช้เอกสารปลอมทางการค้าระหว่างประเทศ และการนำเอกสารการค้ามาขอสินเชื่อซ้ำซ้อน (Double Financing) สถาบันการเงินผู้ให้สินเชื่อมีความมั่นใจมากขึ้น ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศจึงมีโอกาสได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้น นับเป็นการพัฒนาที่มุ่งสู่การให้สินเชื่อบนฐานข้อมูล (Information Base Lending) อย่างแท้จริง
การศึกษาดังกล่าวมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากจะนำไปสู่การสร้างแนวทางและวิธีปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานกลาง ซึ่งเป็นที่ยอมรับให้ประเทศต่าง ๆ นำไปพิจารณาปรับกระบวนการและกฎระเบียบในประเทศของตน ช่วยให้การทำธุรกรรมระหว่างประเทศอยู่บนมาตรฐานและแนวปฏิบัติเดียวกัน ลดความผิดพลาดและยุ่งยากของการทำธุรกรรม เนื่องจากการศึกษาภายใต้โครงการดังกล่าวมีขอบข่ายการทำงานที่กว้างขวางมาก ดังนั้นนอกจากบริษัทที่ปรึกษาที่รัฐบาลอังกฤษให้การสนับสนุนแล้ว สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาซัยนได้มีการหารือที่จะให้บริษัทอื่นมาดำเนินการเพิ่มเติมและรัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมากที่จะเข้ามาให้การสนับสนุนการศึกษาและการจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมด้วย