WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันจันทร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
คนไทยมีเงินใช้ไม่ถึง 6 เดือน หากขาดรายได้กระทันหัน!!!

24 ตุลาคม 2562 : คนไทยมีเงินใช้ไม่ถึง 6 เดือน หากต้องตกงาน! หากพูดแบบนี้คงไม่แปลกที่จะเป็นไปไม่ได้ หากพฤติกรรมการใช้จ่ายเงิน และการออมเงินยังผิดรูปแบบเหมือนเช่นทุกวันนี้ เพราะพบว่าคนไทยสมัยนี้มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่สูงมาก เป็นการใช้จ่ายแบบฟุ่มเฟือย ออมน้อย และออมเงินไม่ถูกวิธี ปัญหาเงินไม่พอเอาชีวิตรอดช่วง6เดือนหากตกงาน ก็ไม่น่ารอดเช่นกัน

ล่าสุด GoBear Thailand แพลตฟอร์มเว็บไซต์รวบรวม ค้นหา และเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ได้ทำดัชนีชี้วัดสุขภาพทางการเงินของคนไทย และพบปัญหาหลักๆมากมายที่คนไทยไม่รอดถ้าตกงาน และเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้บริโภคคนไทยหันมาสนใจสุขภาพทางการเงินของตนเอง รวมถึงการวางแผนด้านการเงินระยะยาวเพื่อเอาตัวรอด

นายมาร์นิกซ์ สวาร์ท รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานด้านพัฒนาธุรกิจ และผู้ร่วมก่อตั้ง เว็บไซต์โกแบร์ (GoBear.com/th) เว็บไซต์เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ใช้ง่าย ใช้ฟรี และโปร่งใส ออกมาระบุว่า โกแบร์ (GoBear) ได้จัดทำดัชนีชี้วัดสุขภาพทางการเงินของโกแบร์ (GoBear) หรือ GoBear Financial Health Index ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อการเรียนรู้และทำความเข้าใจถึงแนวคิด ความรู้สึกและการจัดการการเงินส่วนบุคคล ซึ่งการศึกษาดังกล่าวเป็นการศึกษาร่วมกับองค์กรวิจัยชื่อดังเจ้าของรางวัลการันตีอย่าง Kadence International โดยจัดทำขึ้นในตลาดสำคัญสี่แห่งของ GoBear ทั่วเอเชีย ได้แก่ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย

จากผลการศึกษาพบว่าปัญหาหลักๆ ของการไม่ลงทุนเกิดจากปัญหาสภาพคล่องทางการเงินมากกว่าโนว์ฮาวทางด้านการลงทุน โดยได้มีการศึกษาในกลุ่มคนไทย 5 กลุ่มอายุ คือกลุ่มอายุ 18-25 กลุ่มอายุ 26-35 กลุ่มอายุ 36-45 กลุ่มอายุ 46-55 และกลุ่มอายุ 56-65 พบว่าประมาณ 50% ของทุกกลุ่มอายุไม่ลงทุนเนื่องจากไม่มีเงินเหลือเพียงพอหลังหักรายจ่าย เหตุผลอื่นที่ตามมาคือการขาดความคุ้นเคยหรือขาดความรู้ด้านการลงทุน รวมถึงมองว่าการลงทุนมีความเสี่ยง

นอกจากนี้ ยังพบว่า กว่า 50% ไม่มีเงินออมในบัญชีที่จะใช้ดำรงชีพได้เกิน 6 เดือนหากเกิดการขาดรายได้กระทันหัน และที่สำคัญคือ ปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินนี้ เป็นปัญหาที่เกิดซ้ำ โดย 66% ของคนไทย พบเจอปัญหานี้เป็นประจำทุกปี และ 15% ของคนที่ขาดรายได้หรือตกงาน ไม่มีทางออกหรือความช่วยเหลือทางการเงินใดๆ ทั้งจากญาติพี่น้องหรือคนรอบข้าง

ทั้งนี้ ปัญหาการขาดวินัยด้านการเงินมักส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการเงินอื่นๆ ตามมา ทั้งเรื่องของหนี้สิน การไม่มีเงินออมและการไม่ได้วางแผนด้านการเงินรองรับชีวิตหลังเกษียณ จากการศึกษาพบว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ ตั้งเป้าที่จะเกษียณที่อายุต้น 50 แต่ในคนวัย 46 ขึ้นไป ตั้งเป้าเกษียณที่อายุหลัง 60 นั่นหมายความว่า ถึงแม้คนไทยคาดหวังจะเกษียณเร็วขึ้น แต่เมื่อคนไทยจำนวนไม่น้อยยังขาดวินัยทางการเงิน ทำให้ในความเป็นจริง คนไทยอาจจะยังคงต้องทำงานต่อไปหลังอายุ 60 นอกจากนี้การศึกษาของ Kadence ยังพบอีกว่า 38% ของคนวัย 18-25 ยังไม่เริ่มวางแผนเกษียณ ในขณะที่ยังมีคนวัย 36-45 อีกถึง 26% ยังไม่เริ่มวางแผนเกษียณเช่นเดียวกัน

จากการวิจัยของโกแบร์ (GoBear) และ Kadence พบว่า คะแนนการประเมินสุขภาพทางการเงินโดยรวมของคนไทยอยู่ที่ระดับ 61% ซึ่งถือว่ายังมีช่องว่างเพื่อการพัฒนาได้อีกมาก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทยจำนวน ไม่น้อยในการสำรวจ ทำคะแนนในแบบทดสอบในส่วนของความรู้ทางการเงินได้น้อยนั่นเอง

ทั้งนี้ปัญหาหลักๆ ด้านการเงินของคนไทยที่เห็นชัดจากผลการศึกษาแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ

1) ปัญหารายจ่ายสูงกว่ารายได้ ทำให้ไม่เหลือเงินเพื่อเก็บหรือเพื่อลงทุน การศึกษาของโกแบร์ (GoBear) กับ Kadence พบว่า 49.8% ของคนไทย ไม่สามารถลงทุนได้เพราะไม่มีเงินเพียงพอ หากรายได้น้อยรายจ่ายมาก ควรเลือกการลงทุนด้วยผลิตภัณฑ์ที่ใช้เงินน้อยแต่ให้ความมั่นคงและไม่ต้องเสี่ยงกับภาวะขาดทุน

2) ปัญหาการขาดสภาพคล่องของเงินสดในมือ จากการที่ 50% ของคนไทยไม่มีเงินเก็บเพียงพอที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปโดยไม่ทำงานได้นาน 6 เดือน หมายความว่า หากต้องสูญเสียรายได้ไปเพราะตกงานหรือประสบเหตุฉุกเฉิน จะทำให้การดำรงชีพเป็นไปอย่างลำบาก

3) การขาดการวางแผนด้านการเงินในวัยเกษียณ หรือเริ่มวางแผนการเงินวัยเกษียณเมื่ออายุมากเกินไป จากตัวเลขการวิจัยพบว่า อายุเฉลี่ยที่คนไทยให้ความสนใจวางแผนด้านการเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 41.5 ปี ทั้งที่ในความเป็นจริง การวางแผนด้านการเงินเพื่อการเกษียณสามารถทำได้ตั้งแต่วัย 20+ หรือหลังเรียนจบ เพราะเมื่อเริ่มออมไว จะไม่ต้องออมคราวละจำนวนมาก และมั่นใจได้ว่าจะมีเงินพอใช้ยามเกษียณอย่างแน่นอน และสำหรับคนวัย 30+ หรือ 40+ ที่เพิ่งจะคิดวางแผนการเงินวัยเกษียณ ก็ต้องมีรูปแบบการออมที่แตกต่างไปจากคนเริ่มออมตั้งแต่วัย 20+

4) การขาดความรู้อย่างจริงจังในเรื่องของการเงิน ทำให้การจัดการใดๆ ที่เกี่ยวกับการเงินมักมีข้อผิดพลาดเสมอ จากผลการศึกษาพบว่า 19.5% ที่ไม่กล้าลงทุนเพราะไม่มีความรู้หรือไม่มีความคุ้นเคยกับการลงทุน และ 17.3% คิดว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ทั้งๆ ที่การลงทุนมีหลากหลายรูปแบบ มีทั้งที่เสี่ยงมากและเสี่ยงน้อย ดังนั้นหากทุกคนหันมาสนใจสุขภาพทางการเงินของตนเอง และศึกษาหาความรู้ด้านการเงินและการลงทุนเพิ่มเติม ก็จะสามารถวางแผนด้านการเงินในอนาคตได้อย่างไม่ผิดพลาด

อย่างไรก็ดี ผลจากข้อมูลข้างต้นเป็นข้อมูลสะท้อนความเป็นจริงในสังคมไทยทุกวันนี้ แต่ยังไม่สายเกินไปหากจะหันมาเริ่มใช้จ่ายลดลง มีวินัยทางการเงิน และเริ่มเก็บออมมากขึ้นตั้งแต่วันนี้ไป…

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP