22 ตุลาคม 2562 : นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 ระยะที่ 2 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ต่อจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย 4 มาตรการ ดังนี้
1. มาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้”
มาตรการ “ชิมช้อปใช้” ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยมีผู้ได้รับสิทธิ์ทั่วประเทศครบ 10 ล้านคนแล้ว ซึ่งกระทรวงการคลังได้เห็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากมาตรการดังกล่าว เนื่องจากก่อให้เกิดผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ (Multiple Effects) กระทรวงการคลังจึงได้ออกแบบมาตรการ “ชิมช้อปใช้ เฟส 2” เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศผ่าน g-Wallet โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการเดินทางและใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้มีการกระจายการใช้จ่ายไปยังเศรษฐกิจฐานราก ให้ชุมชนได้รับประโยชน์มากขึ้น และจะมีการปรับปรุงเงื่อนไขเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน
“ชิมช้อปใช้ เฟส 2” จะเปิดให้ผู้ที่ไม่เคยได้รับสิทธิ์ลงทะเบียนเพิ่มจำนวน 3 ล้านคน ซึ่งนอกจากจะได้รับวงเงินสนับสนุน 1,000 บาท สำหรับการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet 1 และเงินชดเชยร้อยละ 15 ของยอดใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาท จากเงินของประชาชนเองผ่าน g-Wallet 2 (เงินชดเชยไม่เกิน 4,500 บาท) เช่นเดียวกับ “ชิมช้อปใช้” เดิมแล้วยังจะได้รับสิทธิ์เงินชดเชยร้อยละ 20 ของยอดใช้จ่ายในส่วนที่เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท (เงินชดเชยไม่เกิน 4,000 บาท) ซึ่งสิทธิ์นี้จะขยายให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ 10 ล้านคนแรกที่ไม่ถูกตัดสิทธิ์ด้วย
สำหรับการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet 2 สามารถเติมเงินได้ง่ายและสะดวก โดยนอกจากจะเติมเงินผ่านการสแกน QR Code ของทุกธนาคาร หรือกรอกตัวเลข g-Wallet 15 หลักผ่าน mobile banking ของธนาคารต่าง ๆ แล้ว ยังสามารถเติมเงินเข้า g-Wallet 2 ผ่านเครื่อง ATM ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะปรับเวลาเริ่มลงทะเบียนใหม่ โดยแบ่งเป็น 2 รอบ รอบละ 500,000 รายรอบแรกเริ่มลงทะเบียนเวลา 6.00 น. และรอบที่ 2 เริ่มลงทะเบียนเวลา 18.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้สนใจลงทะเบียน ซึ่งจะเริ่มเปิดรับลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2562 จำนวนวันละไม่เกิน 1 ล้านคน โดยมาตรการ “ชิมช้อปใช้ เฟส 2” นี้ ประชาชนสามารถใช้ได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562 และร้านค้าสามารถสมัครเข้าร่วมมาตรการได้ถึง 31 ธันวาคม 2562 เช่นกัน
ทั้งนี้ กรมสรรพากรสนับสนุนนโยบายเรื่อง Digital Economy ดังนั้น จึงไม่มีนโยบายมุ่งตรวจสอบกลุ่มผู้ใช้ e-Payment อยู่แล้ว ในทางตรงกันข้าม กรมสรรพากรเห็นว่า ผู้ใช้ e-Payment จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการที่ดีซึ่งจะไม่ถูกตรวจสอบและได้รับบริการที่ดี เช่น การคืนภาษีเร็ว จากกรมสรรพากรด้วย
2. มาตรการลดภาระให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัย (มาตรการลดภาระฯ) เพื่อสนับสนุนและบรรเทาภาระให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เหมาะสมกับศักยภาพของประชาชนแต่ละกลุ่ม โดยรัฐบาลจะลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนอง ดังนี้
2.1 ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนจากเดิมร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 0.01
2.2 ลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิมร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01
ทั้งนี้ เฉพาะการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วยและการจดทะเบียนการโอน และการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน โดยมีระยะเวลานับตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 24 ธันวามคม 2563
3. มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) (มาตรการสินเชื่อฯ)
นอกจากการสนับสนุนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองแล้ว ธอส. จะสนับสนุนสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย โดยการให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ราคาพิเศษและเงื่อนไขผ่อนปรน สำหรับมาตรการสินเชื่อจะเริ่มตั้งแต่วันนี้ (22 ตุลาคม 2562) จนถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 โดยมีวงเงินสินเชื่อทั้งหมด 50,000 ล้านบาทอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 2.5 ในช่วง 3 ปีแรก
มาตรการลดภาระฯ และมาตรการสินเชื่อฯ มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง กลุ่มคนเริ่มทำงานใหม่ที่กำลังก่อร่างสร้างตัว รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อ เพื่อให้บุตรหลานหรือทายาท โดยต้องเป็นการซื้ออยู่อาศัยประเภท บ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ (เพื่อการอยู่อาศัย) และห้องชุด ทั้งนี้ ต้องเป็นที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จพร้อมอยู่ที่ไม่เคยผ่านการครอบครองโดยบุคคลอื่นมาก่อน
การกำหนดราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วยนั้น เนื่องจากเป็นระดับราคาที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จพร้อมอยู่ ณ เดือนตุลาคม 2562 ที่ระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท มีอยู่ประมาณ 34,731 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 57 ของที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จทั้งหมด และคาดว่าจะมีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในปี 2563 อีกประมาณ 145,269 หน่วย จึงมีที่อยู่อาศัยรวมกว่า 180,000 หน่วย ให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายเป็นเจ้าของได้
คาดว่าทั้ง 2 มาตรการ จะช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ให้เติบโต ก่อให้เกิดการขยายตัวของ supply chain ภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่าง ๆ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจพัฒนาการคมนาคม เป็นต้น
นอกจากนี้ เพื่อให้ ธอส. ซึ่งเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเป็นผู้นำตลาดในการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ทำให้ธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตาม ดังนั้น คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยเหลือให้ผู้บริโภคหรือประชาชนให้ได้รับประโยชน์และสามารถเข้าถึงการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น
4. มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ 2562 ไปพลางก่อน (Front Load) เพื่อให้มีเม็ดเงินสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ 2562 ไปพลางก่อนลงสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยรับงบประมาณเร่งรัดเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรม สัมมนา ประจำปีงบประมาณ 2562 ไปพลางก่อน สำหรับวงเงินนั้น ได้รับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณ
กระทรวงการคลังเชื่อมั่นว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2562 ระยะที่ 2 จะช่วยให้ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่การใช้จ่ายระดับฐานรากจนไปถึงระดับประเทศ ตลอดจนการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อที่อยู่อาศัย และการลดภาระค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดทะเบียนจำนองที่อยู่อาศัย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่มีรายได้น้อยและปานกลางที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองสามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ง่าย เป็นการช่วยบรรเทาภาระให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ การเร่งรัดการเบิกจ่ายของภาครัฐจะช่วยเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้ช่วยลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวเร็วยิ่งขึ้น