4 สิงหาคม 2559 : Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์ว่า ตลาดรถจักรยานยนต์กำลังก้าวเข้าสู่จุดอิ่มตัว ส่งผลให้สภาวะการแข่งขันในตลาดสินเชื่อรถจักรยานยนต์มีความรุนแรงมากขึ้น จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก พบว่าหลังจากปี 2012 เป็นต้นมา ยอดจดทะเบียนของรถจักรยานยนต์เติบโตในอัตราที่ลดลง เฉลี่ยปีละ 1.9 คัน โดยปัจจุบันมียอดจดทะเบียนสะสมอยู่ที่ 20.3 ล้านคัน (ข้อมูล ณ มิถุนายน 2016) หรือมีการเติบโตอยู่แค่ราว 0.83%
ด้วยสัดส่วนของรถจักรยานยนต์ต่อประชากรในระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มจะคงที่โดยครอบครัวที่มีสมาชิกประมาณ 3-4 คน จะมีรถจักรยานยนต์ประมาณ 1 คัน รวมถึงความต้องการซื้อรถจักรยานยนต์ของกลุ่มวัยรุ่นในปัจจุบัน มีการปรับตัวลดลง เนื่องจากส่วนใหญ่หันไปให้ความสนใจกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากกว่า
นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ส่งผลให้การแข่งขันในตลาดทวีความรุนแรงมากขึ้น มาจากการที่ธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์สามารถเริ่มต้นได้ง่าย ทั้งนี้ ด้วยสภาพการแข่งขันที่สูง ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องงัดกลยุทธ์ในการส่งเสริมการขายต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้า เช่น การยกเว้นเงินต้น หรือการให้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ เป็นต้น กลยุทธ์ดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับผลสำรวจของอีไอซีที่พบว่า การส่งเสริมการขาย มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการตัดสินใจเลือกซื้อรถจักรยานยนต์
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่วนแบ่งการตลาดของบริษัทสินเชื่อรถจักรยานยนต์รายย่อย รวมถึงตัวแทนจำหน่าย ซึ่งเคยเป็นตลาดหลักในการให้สินเชื่อ ปรับตัวลดลงถึง 7% เป็นผลมาจาก บริษัทสินเชื่อรายใหญ่เริ่มมีการควบรวมธุรกิจสินเชื่อรายย่อยในท้องถิ่นมากขึ้น เช่น กรณีของบริษัท Group Lease ที่เข้าซื้อบริษัท ธนบรรณ จำกัด เมื่อปี 2014 ประกอบกับบริษัทสินเชื่อรายย่อยเอง ยังมีข้อจำกัดในการเพิ่มรายได้ อย่างการเปิดและขยายสาขาเพิ่มเติม
เนื่องจาก จำนวนบุคลากรเฉพาะทางที่คอยให้คำแนะนำยังมีไม่เพียงพอ ตลอดจนฐานข้อมูลลูกค้ายังอยู่ในวงจำกัด ทำให้เสียโอกาสในการขยายช่องทางการให้บริการที่กว้างขึ้น ในขณะที่บริษัทสินเชื่อรายใหญ่ ซึ่งมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ราว 7.5 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 38% ของมูลค่าตลาดสินเชื่อรถจักรยานยนต์ทั้งหมด กลับมีส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้นถึง 11% เพราะมีข้อได้เปรียบในด้านต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำ และยังมีความชำนาญในการบริหารหน่วยงานที่มากกว่า
อีกทั้งยังมีการมองหาแนวทางในการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV ตลอดจนยังมีการเสนอบริการสินเชื่อด้านอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ไมโครไฟแนนซ์ เป็นต้น
จากผลสำรวจของอีไอซีพบว่า จำนวนเกินกว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้มีรายได้มากกว่า 15,000 บาท มีแนวโน้มที่จะเลือกใช้บริษัทสินเชื่อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ในการชำระเงินมากขึ้นในอนาคต และกว่า 40% ของลูกค้าที่มีความต้องการซื้อรถจักรยานยนต์ภายใน 6 เดือนข้างหน้า ก็มีแนวโน้มที่จะเลือกใช้บริการจากบริษัทสินเชื่อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ด้วยเช่นกัน
เนื่องจาก การให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ รวมทั้งบริษัทสินเชื่อรายใหญ่ส่วนมากยังเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในแต่ละท้องถิ่น ทำให้เป็นที่รู้จักและคุ้นเคยมากกว่า ในขณะที่ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท ยังมีแนวโน้มที่จะขอสินเชื่อจากตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์มากกว่า เนื่องจากการกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อจะไม่เข้มงวดนัก อีกทั้งบางร้านยังมีการยกเว้นเงินต้นอีกด้วย
ทั้งนี้ การตัดสินใจของผู้ซื้อส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยหากเศรษฐกิจยังคงชะลอตัวอยู่ กำลังซื้อและความมั่นใจของลูกค้าที่มีรายได้น้อยจะมีการปรับตัวลดลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังยอดขายของตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ รวมถึงยังมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดหนี้เสียเพิ่มมากขึ้นด้วย ในขณะที่บริษัทสินเชื่อรายใหญ่จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจน้อยกว่า เนื่องจากกำลังซื้อส่วนใหญ่มาจากกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง ซึ่งมีฐานะการเงินและอาชีพการงานที่ค่อนข้างมั่นคงกว่า
อีไอซีแนะบริษัทสินเชื่อรายย่อย รวมถึงตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่ให้บริการสินเชื่อ มองหาโอกาสและแนวทางในการเพิ่มรายได้ในธุรกิจใหม่ๆ โดยบริษัทสินเชื่อรายย่อยสามารถสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับคู่แข่ง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันรวมถึงส่วนแบ่งการตลาดที่จะโตขึ้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสในการหาแหล่งเงินทุนให้กับตนเอง เพื่อที่จะขยายธุรกิจและสาขาของบริษัทสินเชื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การบริหารและวิจัยความเสี่ยง รวมถึงการบริหารจัดการภายในองค์กรเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ในขณะที่ตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่ให้บริการสินเชื่อสามารถลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจโดยการสร้างพันธมิตรกับบริษัทสินเชื่อรายย่อยหรือรายใหญ่ เพื่อให้บริหารจัดการในด้านสินเชื่อแทน อีกทั้ง อาจจะมีวางแนวทางในการที่จะเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจไปเป็นภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์ให้มากขึ้น เช่น ร้านรับซ่อมเครื่องยนต์ ร้านขายอุปกรณ์ตกแต่งหรืออะไหล่ของรถจักรยานยนต์