4 สิงหาคม 2559 : นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของ SMEs (มาตรการพี่ช่วยน้อง) เพื่อเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs และมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในชนบท เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจและสังคมในโครงการที่ท้องถิ่นมีความต้องการ โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ดังนี้
มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของ SMEs (มาตรการพี่ช่วยน้อง)
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามกฎหมายไทยที่มีสินทรัพย์ถาวรเกิน 200 ล้านบาท และการจ้างแรงงานเกิน 200 คน (พี่) หักรายจ่าย 2 เท่า แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะ หรือเพื่อการสาธารณะประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตรา 65 ตรี (3) สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของ SMEs ที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามกฎหมายไทยที่มีสินทรัพย์ถาวรไม่เกิน 200 ล้านบาท และการจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน (น้อง) เป็นระยะเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชี
โดยการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ 1) การถ่ายทอดความรู้ ได้แก่ การบริหาร การตลาด การบัญชี เป็นต้น 2) การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม 3) การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มกำไร 4) การส่งเสริมการตลาด 5) จ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทนผู้ประกอบการที่ได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยจะต้องไม่ถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม และไม่มีอำนาจควบคุมหรือกำกับดูแลการดำเนินงานและบริหารงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้จ่ายไปเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจการ ค่าใช้จ่ายในโครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจจะต้องได้รับการรับรองจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในชนบท
บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หักรายจ่าย 2 เท่า แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณะประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬาตามมาตร 65 ตรี (3) สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายให้แก่โครงการ ในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวในชนบท เป็นระยะเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชี โดยต้องเป็นโครงการที่ท้องถิ่นมีความต้องการจะพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจและสังคม
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ 1.ไฟฟ้า 2.ประปา 3.ถนน ทางพิเศษ หรือสัมปทาน 4.โทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 5.พลังงานทางเลือก 6.ระบบบริหารจัดการน้ำ หรือการชลประทาน 7.ระบบป้องกันภัยธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงระบบเตือนภัยและระบบจัดการเพื่อลดความรุนแรงของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นด้วย 8. ระบบจัดการของเสีย และ 9.โครงการที่มี 1 – 8 ประกอบกัน
ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548
พัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว ตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ โบราณสถานแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่อยู่ในการกำกับดูแลของส่วนราชการ หรือองค์การของรัฐ
โครงการดังกล่าวต้องได้รับการรับรองโดยส่วนราชการ หรือองค์การของรัฐ ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวให้กับส่วนราชการ หรือองค์การของรัฐ โดยไม่มีค่าตอบแทน
ทั้งนี้ มาตรการทั้ง 2 ให้เริ่มใช้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2561 และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด