3 สิงหาคม 2559 : ‘อาม่า มารีน’พร้อมยกระดับโลจิสติกส์สู่สากลครอบคลุมเส้นทางเศรษฐกิจ เตรียมระดมกองเรือ ขยายเส้นทางขนส่งน้ำมันพืชบริโภคสู่จีน-อินเดีย ระบุเป็นตลาดใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก
นายพิศาล รัชกิจประการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาม่า มารีน จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าเหลวทางเรือและให้บริการขนส่งสินค้าเหลวทางรถ เปิดเผยว่า ในปี 2559 บริษัทฯมีแผนที่จะยกระดับบริการขนส่งสินค้าเหลวทางเรือให้ก้าวสู่ความเป็นสากล และครอบคลุมเส้นทางขนส่งเศรษฐกิจสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก (เช่น จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น) และเอเชียใต้ (เช่น อินเดีย ปากีสถาน ศรีลังกา และบังคลาเทศ)
โดยบริษัทฯเตรียมที่จะเพิ่มกองเรือบรรทุกน้ำมัน และสารเคมีเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาด โดยเน้นเส้นทางเมียนมาร์ จีน และอินเดียเป็นหลักเนื่องจาก อินเดีย และจีน เป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันพืชอันดับ 1และ 2 ของโลก โดยเมื่อปี 2559 บริษัทฯได้ดำเนินการเพิ่มเรือบรรทุกน้ำมันและสารเคมี อีก 1 ลำที่มีน้ำหนักบรรทุก 9,942 เมตริกตันเพื่อนำมาให้บริการในเส้นทางเมียนมาร์เป็นหลัก ซึ่งมีความต้องการในการขนส่งน้ำมันปาล์มทางเรือเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การขยายกองเรือบรรทุกน้ำมันและสารเคมีของบริษัทฯ เกิดจากผู้เช่าเรือหลักของบริษัทฯมีความต้องการที่จะเพิ่มปริมาณการขนส่ง ในเส้นทางเดิมตามปริมาณการนำเข้าที่สูงขึ้นและเพิ่มเส้นทางใหม่เพื่อขยายเส้นทางให้บริการออก อีกท้ังบริษัท มีแผนในการนำบริษัทฯ เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ m a i โดยแต่งตั้งบริษัท เซจแคปปิตอล จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และได้ดำเนินการแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“บริษัทฯเล็งเห็นถึงโอกาสในการขยายเส้นทางการเดินเรือไปยังประเทศที่มีศักยภาพสูง ซึ่งเป็นประเทศที่มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก โดยเราได้ศึกษาแผนในการขยายกองเรือบรรทุกน้ำมันและสารเคมีอย่างรอบคอบ เพื่อที่จะได้เรือบรรทุกน้ำมันและสารเคมีที่มีน้ำหนักบรรทุกมากขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดและเกิดการประหยัดในเชิงปริมาณ(Economy of Scale)บริษัทฯ ยังเน้นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มผู้เช่าเรือ พัฒนาบุคคลากรให้ความเข้าใจในงานและความต้องการของผู้เช่าเรือเพื่อทำให้การขยายธุรกิจของบริษัทฯมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นายพิศาลกล่าว
ทั้งนี้ บริษัทฯ ให้บริการขนส่งสินค้าประเภทน้ำมันเชื้อเพลิงและสารเคมีแบบไม่ประจำเส้นทาง โดยใช้เรือบรรทุกน้ำมันและสารเคมีที่มีน้ำหนักบรรทุกประมาณ 3,000 ถึง10,000 เมตริกตัน เส้นทางให้บริการหลักในการขนส่งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียใต้ ปัจจุบันมีเรือบรรทุกน้ำมันและสารเคมี จำนวน 7 ลำ มีน้ำหนักบรรทุกรวมทั้งสิ้น 33,641เมตริกตัน เรือทุกลำใช้สัญชาติไทยและธงเรือไทย โดยสินค้าที่ขนส่งส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มและน้ำมันพืชชนิดต่างๆ