18 ก.ย. 62 : นางวรสินี เศรษฐบุตร หัวหน้าฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ สายธุรกิจธนบดี ธนาคารทิสโก้ เปิดเผยว่า กองทุนเด่นในเดือนกันยายน ทิสโก้เวลธ์แนะนำลงทุนในกองทุนเด่นที่เกี่ยวข้องกับเมกะเทรนด์ของโลก อย่างกองทุนที่ลงทุนในรีททั่วโลก และหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ ซึ่งทนทานต่อความผันผวนของเศรษฐกิจได้ดีกว่าหุ้นทั่วไป โดยมีกองทุนแนะนำ 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิด ทิสโก้ โกลบอล ดิจิตอล เฮลธ์ อิควิตี้ (TGHDIGI) ความเสี่ยงระดับ 7 (เสี่ยงสูง) มีนโยบายลงทุนผ่านกองทุน CS (Lux) Global Digital Health Equity ชนิดหน่วยลงทุน IB USD ซึ่งมีนโยบายการลงทุนในหุ้น และใบแสดงสิทธิต่าง ๆ ที่ออกโดยบริษัทที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการแพทย์ (Digital Health) ทั่วโลก
กองทุนเปิด เคแทม เวิลด์ เฮลธ์แคร์ ฟันด์ ชนิดสะสมมูลค่า (KT-HEALTHCARE-A) ความเสี่ยงระดับ 7 (เสี่ยงสูง) เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Janus Global Life Sciences Fund (Master Fund) เพียงกองเดียว โดยกองทุนหลักจดทะเบียนจัดตั้งที่ประเทศไอร์แลนด์ ซึ่งบริหารและจัดการโดย Janus Capital Management LLC มีวัตถุประสงค์การลงทุนเพื่อการเติบโตของเงินลงทุนในระยะยาวโดยเน้นลงทุนในตราสารทุนของบริษัทต่างๆ ทั่วโลก ที่มีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต (Life Sciences)
กองทุนเปิด ทิสโก้ โกลบอล รีท (TGREIT) ความเสี่ยงระดับ 8 (เสี่ยงสูงมาก) เน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก และเน้นลงทุนในประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี ประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรป ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย ผ่านการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน B&I Global Real Estate Securities Fund (UCITS) ชนิดหน่วยลงทุน S โดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
ทั้งนี้ กองทุน TGHDIGI, KT-HEALTHCARE-A และTGREIT ลงทุนกระจุกตัวในหมวดอุตสาหกรรม จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก และอาจมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนจากการลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งกองทุนมีนโยบายป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจผู้จัดการกองทุน ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน ติดต่อสอบถามรายละเอียด หรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ธนาคารทิสโก้ทุกสาขา หรือ TISCO Contact Center โทร. 02-633-6000 กด 2 กด 4
นางวรสินีกล่าวต่อว่า ปัจจุบันทิสโก้เวลธ์มีสินทรัพย์ภายใต้การให้คำแนะนำ (Asset under Advice: AUA) เฉพาะส่วนของกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนเกี่ยวกับเฮลธ์แคร์ และรีทกว่า 3,200 ล้านบาท โดยตั้งเป้าในปี 2563 จะมี AUA รวมเพิ่มขึ้น 10% โดยเป็นการเติบโตจากสินทรัพย์ภายใต้การให้แนะนำ และการขยายกลุ่มลูกค้าไปยังลูกค้าระดับกลางมากขึ้น จากเดิมจะเน้นลูกค้าที่มีความมั่งคั่งสูงเป็นหลัก พร้อมทั้งเพิ่มช่องทางการซื้อขายสับเปลี่ยนกองทุนผ่านแอปพลิเคชันซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2563
สำหรับมุมมองการลงทุนในช่วงนี้ นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ หัวหน้าที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สัญญาณบ่งบอกถึงเศรษฐกิจถดถอยในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าเริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ หลังอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐฯ เริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวลงของการจ้างงาน ล่าสุดในเดือนสิงหาคมตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 130,000 ตําแหน่ง ต่ำกว่าคาดประมาณ 20,000 ตําแหน่ง ซึ่งหากการจ้างงานยังไม่ฟื้นตัวก็จะส่งผลกดดันต่อการบริโภคภาคเอกชนในที่สุด ส่วนทางด้านเศรษฐกิจจีนซึ่งใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลกนั้นพบว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้ขยายตัวต่ำสุดในรอบกว่า 17 ปี โดยขยายตัวเพียง 4.8%
สำหรับเศรษฐกิจเยอมันนีซึ่งเป็นเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยูโรโซนก็เริ่มได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และการชะลอตัวของอุปสงค์โลก โดย GDP ของเยอรมันนีหดตัวในไตรมาส 2 และมีแนวโน้มหดตัวต่อในไตรมาสที่ 3 นอกจากนี้เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงเรื่องผลความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ และความไม่แน่นอนในการเจรจา Brexit รออยู่ข้างหน้า ทำให้เมื่อเร็วๆ นี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโลกปี 2562 จากระดับ 3.6% เป็น 3.3% ขณะที่ราคาหุ้นทั่วโลกตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันกลับปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากราว 15 – 20% สวนทางกับการคาดการณ์ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนที่คาดว่าจะชะลอตัวลง
ดังนั้น ด้วยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ทิสโก้เวลธ์ยังคงแนะนำให้ลงทุนในหุ้นที่ดำเนินธุรกิจสอดคล้องไปกับกระแสหลักของโลก หรือ หุ้นกลุ่ม Megatrend เนื่องจากผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนเหล่านี้มักจะไม่ผันผวนไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจ โดยมีสินทรัพย์การลงทุนที่น่าสนใจลงทุน 2 กลุ่ม คือ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ที่ได้ประโยชน์จากกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอและการย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมืองหลวงและเขตหัวเมืองใหญ่ หรือ Urbanization และหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์ (Healthcare) ที่ได้ประโยชน์จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของหลายประเทศทั่วโลก
ทั้งนี้ จุดเด่นของการลงทุนใน REITs คือสามารถจ่ายผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล (Dividend) ได้ในระดับสูง สม่ำเสมอและมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) ในระดับสูงเหมือนกับการลงทุนในหุ้น แต่มีความผันผวนน้อยกว่าการลงทุนในหุ้น พร้อมทั้งมีโอกาสเติบโตจากการย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมืองหลวงและเขตหัวเมืองใหญ่
หากอ้างอิงจากผลวิจัยขององค์การสหประชาชาติ (United Nation) บ่งชี้ว่า ในปี 2593 (31 ปีข้างหน้า) ประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในเมืองหลวงและเขตหัวเมืองใหญ่เพิ่มเป็น 68.36% เติบโตจากระดับเพียง 29.61% ในปี 2493 นำโดย สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นจาก 53.4% และ 76.16% ในปี 2493 เพิ่มขึ้นเป็น 94.71% และ 90.97% ในปี 2593 ตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลบวกโดยตรงต่อราคาและความต้องการเช่าพื้นที่ของอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ค่าเช่าในภาพรวมเติบโตสูงขึ้นและส่งผ่านมายังผลประกอบการของกองทุน Global REITs
นายณัฐกฤติกล่าวอีกว่า สำหรับข้อดีของหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ คือ สามารถรอดพ้นจากการปรับตัวลดลงอย่างหนักของตลาดหุ้นได้ในทุกช่วงวิกฤต โดยในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ทั้ง 3 ครั้งในปี 2533, 2544 และ 2551 กำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มอุตสาหกรรม Healthcare ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 9%, 9% และ 4% ตามลำดับ ในขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนของบริษัทในดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลงถึง 28%, 22% และ 36% ตามลำดับ และในช่วงปี 2543 และปี 2551 นั้น ราคาหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ในตลาดS&P500 ปรับตัวลดลงเพียง 2% และ 17% ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับดัชนี S&P500 ที่ปรับตัวลดลง 33% และ 40% ตามลำดับ สะท้อนว่าหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์สามารถทำผลการงานได้ดีกว่าถึง 31% และ 23% เลยทีเดียว