3 กันยายน 2562 : ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่าตามที่ได้เกิดอุทกภัยครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ ของไทยส่งผลให้ประชาชนหลายจังหวัด ได้รับความเดือดร้อน บ้านเรือนและทรัพย์สินเสียหาย รวมถึงผลิตผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายเช่น ข้าว พืชไร่ ไม้ผล โดยขณะนี้หน่วยงานภาครัฐยังได้ออกประกาศเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังเหตุการณ์ในครั้งนี้อย่างต่อเนื่องแล้วนั้น
สำนักงาน คปภ. เร่งประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้ผู้ประสบภัยรีบสำรวจความเสียหายของบ้านเรือนและทรัพย์สิน โดยเฉพาะรถยนต์ที่มักจะได้รับความเสียหายเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม โดยให้รีบแจ้งบริษัทประกันภัยเพื่อเข้าไปประเมินความเสียหาย ทั้งนี้ ขอให้ผู้เอาประกันภัยแสดงรายละเอียดความสูญเสียและมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นของทรัพย์สิน
ส่วนกรณีเสียชีวิตให้แสดงหลักฐานสำเนาใบมรณบัตร และสำเนาบันทึกประจำวันตำรวจ เป็นต้นอย่างไรก็ตามในเบื้องต้นขอให้ประชาชนตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ซื้อไว้ว่ามีความคุ้มครองอะไรบ้าง โดยกรมธรรม์ประกันภัยที่มีความคุ้มครองน้ำท่วม ซึ่งหากมีความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมดังกล่าวจะได้รับความคุ้มครอง มีดังนี้
1) การประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ให้ความคุ้มครองตัวรถคันเอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายจาก ภัยน้ำท่วม ซึ่งกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นมีมูลค่าตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไปของมูลค่ารถ จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย
2) การประกันอัคคีภัยที่ซื้อความคุ้มครองน้ำท่วมเพิ่มเติมและการประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน
3) การประกันภัยพืชผลทางการเกษตร เช่น ประกันภัยข้าวนาปี ประกันภัยข้าวโพด ประกันภัยทุเรียน เป็นต้น
4) การประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัย ซึ่งให้ความคุ้มครองกลุ่มภัยธรรมชาติอีก 4 ภัย (น้ำท่วม ลมพายุ แผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟระเบิด หรือคลื่นใต้น้ำ หรือสินามิ และลูกเห็บ) โดยจะได้รับความคุ้มครองภัยน้ำท่วมดังกล่าว 20,000 บาทต่อปี
ทั้งนี้ ยังขอความร่วมมือสมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย แจ้งบริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิต ให้ติดตามสถานการณ์และกำหนดมาตรการในการดูแลช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติดังกล่าว 2 มาตรการ มาตรการแรก ให้ประสานงานหน่วยงานในพื้นที่ต่างๆ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบกับประชาชนผู้เอาประกันภัย เพื่อติดตามสถานการณ์และกำหนดมาตรการเยียวยา ความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย และอนามัยของประชาชน และเตรียมความพร้อมรองรับภัยพิบัติของธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้น
มาตรการที่สอง เมื่อกรณีมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของ ผู้เอาประกันภัย ขอให้บริษัทประกันภัย เร่งรัดตรวจสอบความเสียหายและพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เป็นไปอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม นอกจากนี้จะออกมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายของประชาชนที่อาจเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที