WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันจันทร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
ธปท. แจ้ง!! เงินบาทยังแข็ง ไม่สะเทือนกนง.หั่นดบ.

13 สิงหาคม 2562 : ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธปท. แจงว่า บอร์ดคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. มีมติ 5 ต่อ 2 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากระดับ 1.75 % มาอยู่ที่ระดับ 1.50% ซึ่งสวนทางตลาดค่อนข้างมากที่ต่างคาดการณ์ว่ากนง.ยังควดอกเบี้ยในรอบนี้ ทำให้กูรูทางการเงินหักปากกาหักกันถ้วนหน้า สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้กนง. ตัดสินใจในรอบนี้ ก็ไม่พ้นเรื่องของเศรษฐกิจไทย ที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากการส่งออกสินค้าที่หดตัว และเริ่มส่งผลไปสู่อุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

ในวันแถลงนโยบายการเงิน เมื่อวันที่ 7ส.ค.2562 ที่ผ่านมา นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจในครั้งนี้ โดยคณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากการส่งออกสินค้าที่หดตัวและเริ่มส่งผลไปสู่อุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย เสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม

นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนกรรมการ 2 ท่านเห็นว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในภาวะที่นโยบายการเงินอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายอยู่แล้ว อาจไม่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มได้มากนัก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่อาจเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต

เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม และต่ำกว่าระดับศักยภาพ โดยการส่งออกสินค้าหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ตามเศรษฐกิจคู่ค้า และปริมาณการค้าโลกที่ชะลอลงจากสภาวะกีดกันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้น ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง สำหรับด้านอุปสงค์ในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงตามรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรและการจ้างงานที่ปรับลดลง โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการผลิตเพื่อส่งออก รวมทั้งยังได้รับแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง อย่างไรก็ดี การย้ายฐานการผลิตมายังไทยและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยสนับสนุนการลงทุนในระยะต่อไป การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ตามการลงทุนภาครัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งจากข้อจำกัดด้านการเบิกจ่าย รวมทั้งการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่คาดว่าจะล่าช้า

หลังจากนี้ดอกเบี้ยไทยก็อยู่ในช่วงขาลงอย่างชัดเจนแล้ว และเชื่อว่าในอนาคตกนง.ก็อาจปรับดอกเบี้ยลงได้อีก หากเศรษฐกิจไทยดูแย่ไปกว่าเดิมแล้วค่าเงินบาทละทิศทางจะเป็นอย่างไร หลายคนต่างประเมินว่า กนง.หั่นดอกเบี้ยลด เป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือลดความร้อนแรงของค่าเงินบาทที่จ่อแข็งต่อเนื่อง ด้วยเหตุที่แก้ไม่ตก ด้วยการที่ไทยเนื้อหอมมากเหลือเกิน จนต่างขาติขนเงินเข้ามาลงทุนไม่หยุดหย่อน ลดดอกเบี้ยลงรอบนี้ ถือเป็นเครื่องมือที่ธปท.นำมาใช้คุมค่าเงิน เราก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า จะได้ผลสักเพียงใด

สำหรับสัปดาห์นี้ (13-16 ส.ค.) ทางธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้ประเมินว่า ค่าเงินบาทกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทจะอยู่ที่ 30.50-30.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตลาดยังคงรอติดตามทิศทางค่าเงินหยวน สถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน และประเด็นเรื่อง BREXIT ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาสินค้านำเข้า-ส่งออก ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ข้อมูลการเริ่มสร้างบ้าน เดือนก.ค. ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย ผลสำรวจกิจกรรมภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์ก และดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนส.ค. นอกจากนี้ นักลงทุนอาจรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ค.ของจีนด้วยเช่นกัน

เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยเงินบาทได้รับแรงหนุนในช่วงต้นสัปดาห์จากแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ออกมาอ่อนแอกว่าที่คาด ประกอบกับตลาดมีความกังวลต่อสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนมากขึ้น เงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ (แม้ว่าจะมีจังหวะอ่อนค่าลงช่วงสั้นๆ หลังกนง. มีมติปรับลดดอกเบี้ยนอกเหนือการคาดการณ์ของตลาดลงมาที่ 1.50%) โดยเงินบาทน่าจะมีแรงหนุนบางส่วนจากแรงขายเงินดอลลาร์ฯ ของผู้ส่งออก จังหวะการเข้าซื้อพันธบัตรไทยของต่างชาติในระหว่างสัปดาห์ และทิศทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ยังอ่อนแอเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก ขณะที่ สกุลเงินในภูมิภาคบางส่วนเริ่มฟื้นตัวขึ้น จากที่อ่อนค่าลงตามเงินหยวนในช่วงต้นสัปดาห์ ในวันศุกร์ (9 ส.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 30.72 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 30.81 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (2 ส.ค.)

การเงิน ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP