21 กรกฎาคม 2559 : ดิจิทัลเวนเจอร์ส เปิดแผนยุทธศาสตร์ ภายใต้แนวคิด “Forwarding FinTech” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมขับเคลื่อน financial technology และกลุ่มผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีทางการเงินสำหรับ อุตสาหกรรมธนาคารไทย
บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด (Digital Ventures) ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ แถลงข่าวเปิดตัว อย่างเป็นทางการ ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของ อุตสาหกรรมธนาคารผ่านการลงทุนและการค้นคว้านวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ที่มีความสามารถให้เติบโตร่วมไปกับธนาคารไทยพาณิชย์ โดยเริ่มความพร้อมด้วยการลงทุนในบริษัท startup ระดับโลก การเปิดตัว DV accelerator และการเปิด bank simulation platform สำหรับทดลองไอเดีย ใหม่ๆ จากสามหน่วยงานหลักของบริษัท
นายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า “ดิจิทัล เวนเจอร์ส ก่อตั้งขึ้นจากการตระหนักถึงความ เปลี่ยนแปลง ที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของ financial technology ที่จะมีผลกระทบต่อ การเติบโตของธนาคาร ความจำเป็นในการปรับตัวของธนาคารและการนำ solution ใหม่ๆ เข้ามาตอบ สนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไปรวมถึงความจำเป็นในการมีส่วนร่วมของธนาคารในการผลักดันสตาร์ทอัพไทยให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก
ภารกิจสำคัญของ ดิจิทัล เวนเจอร์ส คือการเข้าไปมีส่วนร่วมในโลกแห่ง financial technology ในรูปแบบ ต่างๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะตอบสนองธนาคารรวมถึงผลักดันให้มีผู้ประกอบการ รายใหม่ๆ ที่จะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับธนาคารในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของ ลูกค้าได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ดิจิทัล เวนเจอร์ส จะดำเนินงานผ่านสามส่วนธุรกิจหลักคือ
หน่วยงานทุนองค์กร (Corporate Venture Capital)
หน่วยงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัล (Digital Products)
หน่วยงานศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพ (Accelerator)
หน่วยงานทุนองค์กร (Corporate Venture Capital)
หน่วยงาน “ทุนองค์กร หรือ Corporate Venture Capital” มี คุณพลภัทร อัครปรีดี – Managing Director, Corporate Venture Capital ทำหน้าที่เป็นผู้ดูแล จะมีหน้าที่ศึกษา ทำความเข้าใจเทคโนโลยี และตัดสินใจ ในการลงทุน โดยมีเงินทุนเริ่มต้นสำหรับการลงทุนประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยได้เริ่มการลงทุน ครั้งแรกในกองทุน “โกลเดนเกต เวนเจอร์ส” (Golden Gate Ventures) ซึ่งเป็นกองทุนสตาร์ทอัพที่ประสบ ความสำเร็จมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดิจิทัล เวนเจอร์ส ได้เข้าลงนามบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ร่วมกับ Life.SREDA ซึ่งเป็น venture capital ระดับโลกในด้าน financial technology ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ สิงคโปร์ การร่วมมือกับ Life.SREDA นี้จะเอื้อประโยชน์ให้ ดิจิทัล เวนเจอร์ส ได้รับประโยชน์ในเชิงกลยุทธ์ ทั้งด้านงานวิจัย และในด้าน การลงทุน ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการให้บริการทางการเงินในอนาคตได้
หน่วยงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัล (Digital Products)
หน่วยงาน “พัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัล” นำโดย คุณสุวิชชา สุดใจ – Managing Director, Digital Products มีภารกิจทางด้านงานวิจัย ทดลองสร้างสรรค์ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้าน financial technology ในรูปแบบต่างๆ เป็นเสมือนห้องทดลองในธนาคารไทยพาณิชย์ในการหา solution ใหม่ๆ เพื่อตอบสนอง ความต้องการของผู้บริโภคในด้านต่างๆ เช่น Blockchain, Internet of Things (IoT), Machine Learning (AI) และ Biometrics
ในเดือนสิงหาคม ทางหน่วยงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ดิจิทัล จะเปิดตัว bank simulation platform ที่เปรียบ เสมือนเป็น ธนาคารจำลอง ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์ทางด้านเทคโนโลยี การเงินเข้าทดลอง ในระบบเสมือนจริงนี้ได้ เพื่อให้สามารถมองเห็นกลไกของธนาคาร และประเมินได้ว่า ผลิตภัณฑ์นั้น สามารถนำออกสู่ตลาด และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้หรือไม่ และเพื่อที่จะใช้ในการ ปรับปรุงก่อนจะใช้งานเชิงพาณิชย์ต่อไป โดยจะให้กลุ่มผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์ ทางด้านเทคโนโลยี การเงินนี้เข้าทดลองในระบบนี้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ ดิจิทัล เวนเจอร์ส จะเป็นรายแรกที่จะเปิด API ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้ามาดึงข้อมูล บางส่วนของ SCB ไปใช้ เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาและทดลองผลิตภัณฑ์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน
หน่วยงานศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพ (Accelerator)
หน่วยงานศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพ หรือ “Accelerator” โดยคุณชาล เจริญพันธ์ – Head of Accelerator จะทำหน้าที่ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา พร้อมให้เงินทุนกับกลุ่มสตาร์ทอัพเพื่อสร้างความเข้มแข็ง ให้กลุ่ม ผู้ประกอบการ financial technology ในเมืองไทยและในภูมิภาค
ขณะนี้ ดิจิทัล เวนเจอร์ส ได้เตรียมเปิดโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพรุ่นที่ 1 ภายใต้ชื่อ Digital Ventures Accelerator (DVA) ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ จะได้รับความรู้พื้นฐานของการ เป็นผู้ประกอบการ อย่างเข้มข้น ได้รับคำปรึกษาจากเมนทอร์ (Mentor) ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และพร้อมที่จะให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาโครงการ
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ ที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการ จะได้รับเงินทุนให้เปล่าจำนวน 300,000 บาท โดยทางโครงการจะคัดเลือก สตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับ financial technology 50% และสตาร์ทอัพทางด้านอื่นอีก 50% เพื่อสามารถ สร้างสรรค์นวัตกรรมที่หลากหลายตอบโจทย์ได้ทั้ง SCB และ ลูกค้า SCB ทั้งลูกค้ารายย่อยและลูกค้าธุรกิจ โดยโครงการ Digital Ventures Accelerator นี้จะเปิดรับสมัครถึงสิ้นเดือนสิงหาคมนี้
ภาพจากซ้ายไปขวา
1. นายชาล เจริญพันธ์ Head of Accelerator
2. นายพลภัทร อัครปรีดี Managing Director, Corporate Venture Capital
3. นายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริหาร
4. นายสุวิชชา สุดใจ Managing Director, Digital Products
5. นายปภาพรต ภู่ประเสริฐ Chief Operating Officer
อนึ่ง : ดิจิทัล เวนเจอร์ส (Digital Ventures) – http://www.dv.co.th คือ บริษัทผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2016 ตามกลยุทธ์ในการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ของทางธนาคารฯ ดิจิทัล เวนเจอร์ส มุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมธนาคารผ่านการลงทุน การค้นคว้านวัตกรรม รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เติบโตร่วมไปกับธนาคารฯ เบื้องต้น ดิจิทัล เวนเจอร์ส มีเงินลงทุนใน Financial Technology 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1,760 ล้านบาท