31 กรกฎาคม 2562 : นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกปี 2562 มูลค่าส่งออกของไทยหดตัวถึง 2.9% เป็นผลของสงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อระหว่างสหรัฐฯ-จีน ทำให้สินค้าส่งออกของไทยในห่วงโซ่การผลิตและพึ่งพาตลาดจีนสูงหดตัวต่อเนื่อง อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติก จากสถานการณ์ดังกล่าว หลายหน่วยงานรวมทั้ง EXIM BANK ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของมูลค่าส่งออกของไทยในปี 2562 โดยคาดว่าจะขยายตัว 0.2%
การส่งออกของไทยในครึ่งหลังปี 2562 มีความหวังอยู่ในกลุ่มสินค้าดาวรุ่ง ที่มีมูลค่าส่งออกขยายตัวสูงต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งไทยมีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะอาหารแปรรูป ผักและผลไม้ เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรส เครื่องสำอาง ขณะเดียวกันหลายสินค้าก็ได้อานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่ช่วยประชาสัมพันธ์อัตลักษณ์ความเป็นไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก อาทิ อาหาร สมุนไพร และของใช้ในครัวเรือน นอกจากนี้ยังมี กลุ่มสินค้าที่ได้อานิสงส์จากสงครามการค้า โดยสินค้าไทยที่ผลิตคล้ายกับสินค้าจีนสามารถแทรกตัวเข้าไปเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ อาทิ ยางล้อ ของเล่น เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ยังมีกลุ่มสินค้าที่แข่งขันได้ในระยะสั้น เนื่องจากการปรับตัวของผู้ประกอบการไทย เพื่อลดผลกระทบของสงครามการค้า อาทิ กลุ่มสินค้าที่หนีไปตลาดหลบภัย ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีน ซึ่งผู้ประกอบการไทยปรับตัวได้ค่อนข้างดีโดยการหาตลาดหลบภัยเพื่อทดแทนตลาดจีนที่หดตัว เช่น คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ขยายตัวสูงในตลาดอินเดีย เม็กซิโก เวียดนาม แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวสูงในตลาดเม็กซิโก เบลเยียม
รวมถึงไม้และผลิตภัณฑ์ ขยายตัวสูงในตลาด CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) อินเดีย ซึ่งแม้ว่าการส่งออกไปตลาดเหล่านี้จะไม่สามารถชดเชยตลาดจีนได้ทั้งหมด แต่ก็สามารถบรรเทาผลกระทบและช่วยพยุงการส่งออกของไทยได้ระดับหนึ่ง ขณะเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่ามีสินค้าบางกลุ่มที่ตอบโจทย์ความต้องการเดิมในตลาดใหม่ๆ ได้ นับเป็นการชดเชยตลาดส่งออกเดิมที่ชะลอลง เช่น การส่งออกยางพาราที่หดตัวจากความต้องการของจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกยางพาราอันดับ 1 ของไทยชะลอลง แต่ขยายตัวได้ดีในตลาดอื่น
อาทิ ยุโรปตะวันออก แคนาดา แต่ในอนาคตยางพาราไทยต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เพื่อให้แข่งขันได้ในระยะยาว รถยนต์และส่วนประกอบ ไปออสเตรเลียซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยที่หดตัว แต่การส่งออกไปตลาด CLMV และอินเดียกลับขยายตัวสูงจากชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นและความต้องการรถยนต์ใช้น้ำมันที่ยังมีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวสินค้าไทยต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตหรือนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมทำให้ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และเคมีภัณฑ์ชีวภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
อีกหนึ่งเครื่องยนต์ที่จะเข้ามาประคับประคองการส่งออกสินค้าของไทยได้เป็นอย่างดี คือ การส่งออกบริการ ที่ไม่เพียงภาคการท่องเที่ยวที่ไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลกทั้งในแง่ของรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ไทยยังมีภาคบริการอื่นๆ ที่มีศักยภาพและเติบโตได้ดีไม่แพ้กัน อาทิ การก่อสร้าง โลจิสติกส์ และธุรกิจนันทนาการ ที่ผู้ประกอบการไทยเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งจะช่วยต่อยอดการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องได้อีกช่องทางหนึ่ง
นายพิศิษฐ์ กล่าวต่อไปว่า EXIM BANK เร่งสนับสนุนผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs ให้เริ่มต้นและขยายธุรกิจได้มากขึ้น โดยเงินให้สินเชื่อคงค้างแก่ลูกค้า SMEs โตก้าวกระโดดจาก 22,930 ล้านบาทในปี 2557 เป็น 38,834 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 เพิ่มขึ้น 69% ในรอบ 5 ปี และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น 17.79% โดยจำนวนเงินให้สินเชื่อคงค้างของ EXIM BANK ทั้งหมดในช่วงครึ่งแรกปี 2562 อยู่ที่ 107,183 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,706 ล้านบาท หรือ 11.10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 94,750 ล้านบาท โดยเป็นปริมาณธุรกิจ SMEs 52,953 ล้านบาท ทั้งนี้ มีผู้ส่งออก SMEs เข้าถึงบริการของ EXIM BANK เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคิดเป็นสัดส่วน 12.48% ของผู้ส่งออก SMEs ทั้งประเทศ สอดคล้องกับจำนวนลูกค้า SMEs ที่เพิ่มขึ้นโดยเป็นผลจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้งการบ่มเพาะผู้ประกอบการไทยให้เป็นผู้ส่งออกรายใหม่ได้มากขึ้น
ปัจจุบัน EXIM BANK มีวงเงินที่ให้การสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 86,024 ล้านบาท มีเงินให้สินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 จำนวน 41,330 ล้านบาท และมีเงินให้สินเชื่อคงค้างเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยขยายฐานการค้าและการลงทุนไป CLMV จำนวน 30,415 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,338 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกเหนือจากเงินทุน EXIM BANK ได้ให้บริการประกันการส่งออก เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมั่นใจที่จะบุกตลาดใหม่หรือขยายการส่งออกมากขึ้น ในครึ่งแรกปี 2562 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและประกันความเสี่ยงการลงทุน 53,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,153 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs จำนวน 11,487 ล้านบาท หรือ 21.56% ของปริมาณธุรกิจสะสมรวม
ผลการดำเนินงานโดยรวมของ EXIM BANK ในครึ่งแรกปี 2562 EXIM BANK มีกำไรสุทธิ 523 ล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคาร (NPLs Ratio) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 อยู่ที่ 4.26% โดยมี NPLs จำนวน 4,566 ล้านบาท และมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 10,027 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,318 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 6,167 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองหนี้พึงกัน 162.58% ทำให้ EXIM BANK ยังคงดำรงฐานะการเงินที่มั่นคง
“ปัจจุบันการส่งออกของไทยอาจหดตัวลง แต่ยังมีภูมิต้านทานที่ดีกว่าคู่แข่งหลายประเทศ เพราะอัตลักษณ์ความเป็นไทยมีชื่อเสียงในระดับโลก ทำให้สินค้าไทยยังเป็นที่ต้องการอีกมากในต่างประเทศ แต่การเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกและพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก ผู้ส่งออกไทยต้องทันข่าวสาร ปรับปรุงสินค้าและบริการให้ตอบสนองหรือชี้นำผู้บริโภคได้ เพื่อการทำตลาดอย่างประสบความสำเร็จและยั่งยืน EXIM BANK พร้อมให้การสนับสนุนผู้ส่งออกสินค้าและบริการของไทย รวมทั้งผู้ส่งออกทางอ้อมในซัพพลายเชน ทั้งด้านคำปรึกษา เครื่องมือทางการเงินและเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่จะช่วยให้สินค้าไทยขยายตลาดไปยังผู้มีกำลังซื้อทั้งในตลาดใหม่และตลาดเดิมได้ นำมาสู่การพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืนแม้ในภาวะเศรษฐกิจโลกผันผวน” นายพิศิษฐ์กล่าว