28 มิถุนายน 2562 : ศิริพรรณ ทองเจิม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ประธานการจัดงาน กล่าวว่า มหกรรมศิลปะ ดนตรี และการแสดง นอกจากความร่วมมือของนานาประเทศ และสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ในประเทศไทยแล้ว กระทรวงวัฒนธรรมก็เข้ามามีบทบาทสนับสนุนงานมหกรรมครั้งนี้
ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงฯ ที่พร้อมให้การสนับสนุนกิจกรรมอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม และวัฒนธรรม ในเชิงการอนุรักษ์ผ่านการส่งเสริมและเผยแพร่ อีกทั้งปี 2562 ยังเป็นปีวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งถือเป็นปีแห่งโอกาสสำคัญที่สถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จะได้นำนานาประเทศ และสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ร่วมกันบูรณาการทางวิชาการด้านศิลปกรรมนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการเพิ่มขีดความสามารถของอาจารย์ผู้สอน และนิสิต นักศึกษา ให้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดให้สอดคล้องกับหน้าที่ของตนเองอย่างเหมาะสม
มหกรรมมหกรรมศิลปะ ดนตรี และการแสดง ในครั้งที่ 9 นี้ได้รับความร่วมมือจากนานาประเทศเข้าร่วมทำการแสดง อันได้แก่ บังคลาเทศ, บัลกาเรีย, ฟิจิ, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิตาลี, เกาหลี, ฟิลิปปินส์, รัสเซีย และประเทศไทย อีกทั้งยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษาในไทย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์, มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี, มหาวิทยาลัยนเรศวร, สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์, มหาวิทยาลัยศรีปทุม, มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
ผศ.ดร.ระวิวรรณ วรรณวิไชย คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดเผยว่า คณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว มุ่งเน้นการขับเคลื่อนความเป็นศิลปกรรมศาสตร์และก้าวสู่ความเป็นสากล สำหรับมหกรรมศิลปะ ดนตรี และการแสดง ซึ่งเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการเครือข่ายศิลปกรรมวัฒนธรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญ และได้มีการจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 และยังได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรจาก 10 ประเทศนำศิลปะการแสดงเข้าร่วมทำการแสดง
ซึ่งในบางประเทศก็มาร่วมทำการแสดงต่อเนื่องหลายปี แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งด้านเครือข่ายของโครงการ และถือเป็นโอกาสอันดีที่นิสิตของ มศว หรือนักศึกษาจากสถาบันอื่น ๆ จะมีโอกาสได้รับชมไปพร้อมกับการศึกษาเรียนรู้ด้านศิลปะ ดนตรี และนาฏศิลป์ของนานาชาติ ในขณะที่นักแสดงจากแต่ละประเทศก็จะมีโอกาสได้เรียนรู้ศิลปะการแสดงจากประเทศเรา
ซึ่งอธิบายความเป็นมาของวัฒนธรรม ประเพณี ประจำชาติได้เป็นอย่างดี ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สำหรับสิ่งชี้วัดความสำเร็จของโครงการในปัจจุบัน เราดูได้จากความร่วมมือจากต่างประเทศที่ต่อเนื่องและเพิ่มจำนวนขึ้นในทุกปี และการพัฒนาขีดความสามารถของนักวิชาการ อาจารย์ ที่ได้เรียนรู้ศิลปะการแสดงจากต่างประเทศและสามารถนำไปต่อยอดสู่การพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอนต่อไป
นักแสดงจากนานาประเทศรวมทั้งในประเทศไทย ได้นำเอาการแสดงอันมีรากเหง้าจากวัฒนธรรม ประเพณี มาเผยแพร่ในงานมหกรรมศิลปะ ดนตรี และการแสดงในครั้งที่ 9 ได้อย่างตระการตา แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์และการสื่อสารให้เห็นถึงวัฒนธรรมประจำชาติ ผ่านท่วงท่าที่สวยงาม และเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ได้รับการออกแบบอย่างวิจิตรบรรจง
สำหรับมหกรรมศิลปะ ดนตรี และการแสดง เป็นหนึ่งกิจกรรมภายใต้โครงการเครือข่ายศิลปกรรมวัฒนธรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ เป็นเวทีแห่งโอกาสให้เยาวชน นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากนานาชาติ นำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถทางวิชาการ ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบเครื่องแต่งกาย การแสดง สร้างเสริมการเรียนรู้ด้านศิลปกรรมศาสตร์สู่ความชำนาญในสาขาอาชีพการแสดง ดนตรี นาฎศิลป์แนวร่วมสมัยและดั้งเดิม และสามารถแสดงให้นานาประเทศได้เห็นถึงอารยธรรมอันงดงามและมีควรค่าแก่การอนุรักษ์อย่างยั่งยืนสืบไป