WELCOME TO SEQUEL ONLINE (ซีเคว้ล ออนไลน์)
วันอาทิตย์ ที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ติดต่อเรา
คปภ. ชูบทบาทในเวทีสากลในการประชุม 14th AFIR Annual Meeting and Conference ###

14 มิถุนายน 2562 : ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วยคณะผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. ได้เข้าร่วมการประชุม Asian Forum of Insurance Regulator (AFIR) Annual Meeting and Conference ครั้งที่ 14 ในระหว่างวันที่ 22 – 23 พฤษภาคม 2562 ณ เขตบริหารพิเศษมาเก๊า แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคเอเชีย

โดยมีผู้สังเกตการณ์จากหน่วยงานระหว่างประเทศต่างๆ เข้าร่วมประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และแนวทางการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยใหม่ๆ โดยการประชุมในครั้งนี้ Monetary Authority of Macao ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับธุรกิจประกันภัย เขตบริหารพิเศษมาเก๊า เป็นเจ้าภาพ และมีหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเข้าร่วมถึง 15 ประเทศ นอกจากนี้ที่ประชุมได้เชิญผู้บริหารของบริษัท Bowtie Life Insurance ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยแบบ Virtual insurance แห่งแรกในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ที่ดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้นมาถ่ายทอดประสบการณ์ โดยได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากประเทศสมาชิก

สำหรับหัวข้อหลักของการประชุมในปีนี้ มุ่งเน้นบทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลในการสร้างความเชื่อมโยงและส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจประกันภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการลดช่องว่างความคุ้มครองประกันภัย (Protection gap) การส่งเสริมการเข้าถึงระบบประกันภัยด้วยนวัตกรรมด้านการประกันภัย InsurTech และการยกระดับมาตรฐานการบริหารความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และมหันตภัยธรรมชาติ และในโอกาสเดียวกันนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้รับเชิญเข้าร่วมอภิปรายในประเด็น Regulation and Supervision Supporting Inclusive Insurance ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านนโยบายและวิสัยทัศน์ของหน่วยงานกำกับดูแลในการขับเคลื่อนการประกันภัยให้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น

โดยเลขาธิการ คปภ. ได้ฉายภาพภารกิจของสำนักงาน คปภ. ในเรื่องการเข้าถึงการประกันภัยของประชาชน โดยได้กำหนดให้การเข้าถึงการประกันภัยเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2559 – 2563) เพื่อเสริมสร้างความรู้และการเข้าถึงการประกันภัย ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัย และใช้ประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้กับชีวิตและทรัพย์สิน

โดยสำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพัฒนาแบบประกันภัยไมโครอินชัวรันส์ ที่มีลักษณะสำคัญคือ เบี้ยประกันภัยถูก ความคุ้มครองเข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน และประชาชนสามารถซื้อได้ผ่านช่องทางที่หลากหลาย และมีการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยไมโครอินชัวรันส์มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ประกันภัยสำหรับข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลำไย และประกันอุบัติเหตุ เป็นต้น และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

โดยบริษัทประกันภัยจำนวนมากเข้าร่วมโครงการ และประชาชนให้ความสนใจเป็นอย่างดี ซึ่งหลักการในการจัดทำโครงการเหล่านี้ประกอบไปด้วยบัญญัติ 7 ประการ คือ (1) เข้าใจง่าย (2) น่าสนใจและตรงต่อความต้องการของประชาชน (3) ประชาชนสามารถเข้าถึงการประกันภัยง่าย (4) อัตราเบี้ยประกันภัยเหมาะสม ประชาชนสามารถซื้อได้ (5) การประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้แก่ประชาชน (6) สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้เอาประกันภัยผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียน และ (7) เกิดกำไรจากการรับประกันภัย ทั้งนี้ บทบาทของสำนักงาน คปภ. ในประเด็นดังกล่าวได้รับความสนใจจากประเทศสมาชิก และได้กล่าวชื่นชมว่ามีผลงานในการขับเคลื่อนการเข้าถึงระบบประกันภัยอย่างเป็นรูปธรรม และโดดเด่นในภูมิภาค

ในการนี้ สำนักงาน คปภ. ในฐานะผู้แทนของประเทศไทย ได้รับการไว้วางใจจากประเทศสมาชิกให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุม Asian Forum of Insurance Regulator (AFIR) Annual Meeting and Conference ใน ปี 2564

เลขาธิการ คปภ. และคณะยังได้เข้าร่วมการประชุม Asia-Pacific High-level Meeting on Insurance Supervision ครั้งที่ 2 ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนมุมมองและข้อคิดเห็นระหว่างผู้บริหารของหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย สมาคมหน่วยงานกำกับธุรกิจประกันภัยนานาชาติ (The International Association of Insurance Supervisors : IAIS) และองค์การดูแลเสถียรภาพการเงิน (Financial Stability Institute: FSI) เกี่ยวกับแนวทางยกระดับมาตรฐานในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของตลาดประกันภัยในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลก ซึ่งที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

รวมถึงแนวทางการกำกับดูแลและส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีประกันภัยของหน่วยงานกำกับดูแลใน แต่ละประเทศ ซึ่งบางประเทศได้จัดตั้ง Regulatory Sandbox เพื่อให้ภาคธุรกิจ และ startups ได้ทดลองใช้นวัตกรรมใหม่ และหน่วยงานกำกับดูแลในหลายประเทศได้เริ่มนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการกำกับดูแลบริษัทและควบคุมพฤติกรรมตลาด (SupTech และ RegTech) การพัฒนาบุคคลากรให้มีความรู้ และเท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ รวมถึงการหารือเกี่ยวกับแนวทางในการยกระดับการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ของบริษัทประกันภัย ให้สามารถดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับแนวทางรับมือกับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การพัฒนาหลักเกณฑ์การกำกับดูแลด้านต่างๆ อาทิ การดำรงเงินกองทุนให้ครอบคลุมถึงความเสี่ยงดังกล่าว รวมถึงแนวทางกระตุ้นให้ภาคธุรกิจตระหนักถึงความสำคัญและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการประเมินความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในโอกาสนี้ เลขาธิการ และคณะผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. ยังได้เยี่ยมชมและพบปะกับคณะผู้บริหารระดับสูง บริษัท China Taiping Insurance Group Ltd. ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยที่ดำเนินธุรกิจอย่างครบวงจร ทั้งการประกันชีวิต การประกันวินาศภัย การประกันบำนาญ การประกันภัยต่อ และมีเครือข่ายในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา ซึ่งได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับแนวทางการประกอบธุรกิจประกันภัยข้ามพรมแดน

และการเชื่อมโยงเครือข่ายของธุรกิจประกันภัยในเขต Guangdong-Hong Kong-Macau Greater Bay ซึ่งประกอบด้วย เขตบริหารพิเศษฮ่องกง เขตบริหารพิเศษมาเก๊า และ 9 หัวเมืองหลักในสาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นแผนยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาลจีนในการพัฒนาให้เขต Greater Bay เป็นหนึ่งในเขตพื้นที่ที่สำคัญระดับโลก เป็นศูนย์กลางทางด้านการเงิน การค้า เทคโนโลยี นวัตกรรม การขนส่ง และการแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมบนส้นทาง Maritime Silk Road โดยบริษัท China Taiping Insurance Group เป็นบริษัทประกันภัยแห่งเดียวที่สามารถให้ความคุ้มครองประกันภัยรถยนต์ข้ามแดนระหว่างเขตบริหารพิเศษมาเก๊า เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และสาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านการเชื่อมโยงระบบการประกันภัยระหว่างกลุ่มบริษัทประกันภัยในเขตพื้นที่ดังกล่าว

นอกจากนี้บริษัทได้มีการพัฒนา แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการด้านการประกันภัย เช่น การขายกรมธรรม์สุขภาพและกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ไม่ซับซ้อน และการแก้ไขข้อมูลเกี่ยวกับผู้เอาประกันภัย บนโปรแกรมสนทนา WeChat ซึ่งมีฐานผู้ใช้บริการขนาดใหญ่ที่สุดในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยในอนาคตจะพัฒนาให้สามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนผ่านโปรแกรมนี้ได้ ทั้งนี้ บริษัท China Taiping ได้แสดงความสนใจและอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้ามาลงทุนด้านประกันภัยต่อในประเทศไทย

นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมบริษัท FWD Hong Kong ซึ่งมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่น่าสนใจและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดำเนินธุรกิจหลายด้าน โดยเลขาธิการ คปภ. ได้พบกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ และรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการวิเคราะห์แนวโน้มตลาดประกันภัยในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งพบว่า ภูมิภาคเอเชียกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในขณะที่เศรษฐกิจมีการขยายตัว ประชากรในภูมิภาครายได้เฉลี่ยและความมั่นคั่งมากขึ้น ภาคธุรกิจประกันภัยมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ มีการจับคู่ธุรกิจและสร้างพันธมิตรกับ Tech firm มากขึ้น

รวมถึงมีการนำ Digitalization มาใช้อย่างแพร่หลายทั้งในภาคธุรกิจและหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งในส่วนของ บริษัท FWD ได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในหลายด้าน เพื่อให้สามารถให้บริการที่ตอบสนองผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น เช่น พัฒนา Artificial Intelligence เพื่อวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า และพัฒนา ChatBot ที่สามารถโต้ตอบบทสนทนาได้เหมือนคน เพื่อช่วยลดระยะเวลาการให้บริการลูกค้า และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้เอาประกันภัย นอกจากนี้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของกรมธรรม์ประกันภัย โดยการนำรูปภาพมาใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยเข้าใจเกี่ยวกับความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยได้ง่ายและดียิ่งขึ้น ซึ่งได้นำมาใช้จริงในหลายประเทศแล้ว เช่น ประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น

“การเข้าร่วมการประชุม Asian Forum of Insurance Regulator Annual Meeting and Conference และ Asia-Pacific High-level Meeting on Insurance Supervision และการเยี่ยมชมบริษัทประกันภัยชั้นนำในฮ่องกงในครั้งนี้ ทำให้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางการกำกับดูแลระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างความร่วมมือ และยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลระหว่างกัน รวมถึงได้หารือในหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจ ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าธุรกิจประกันภัยในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทย มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในทุกมิติของการดำเนินงาน

ในขณะเดียวกันประชาชนในภูมิภาคยังประสบกับปัญหาการเข้าถึงระบบประกันภัย ส่งผลให้ช่องว่างความคุ้มครองประกันภัย (Protection gap) ในหลายประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง ถือเป็นความท้าทายที่หน่วยงานกำกับดูแลในการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจนำเทคโนโลยีมาช่วยในการเข้าถึงระบบประกันภัยมากขึ้นได้อย่างไร อีกทั้งยังได้รับทราบถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านการประกันภัยที่เป็นรูปธรรม และรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ ที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง อันสามารถนำแนวปฏิบัติที่เหมาะสมมาปรับใช้กับธุรกิจประกันภัยของไทย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ประกันภัย ดูทั้งหมด



COPYRIGHT © 2016 SEQUEL ONLINE. ALL RIGHTS RESERVED.
FOLLOW UP