12 มิถุนายน 2562 : ตามการคาดการณ์จากงานวิจัยของศูนย์วิจัยอลิอันซ์ พบว่ายอดเบี้ยประกันภัยรวมทั่วโลกในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็น 3.655 ล้านล้านยูโร (หรือประมาณ 128 ล้านล้านบาท) (ไม่รวมประกันสุขภาพ) ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2560 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 3.3% อันเป็นผลมาจากอัตราแลกเปลี่ยน นับเป็นปีที่สามติดต่อกัน (หรือเป็นปีที่ 12 ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา) ที่การเติบโตของเบี้ยประกันภัยทั่วโลกขยายตัวน้อยกว่าการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้น 5.7% ในปี 2561) อัตราการเข้าถึงประกัน (โดยเบี้ยประกันภัยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของ GDP) จึงลดลงเหลือ 5.4% ซึ่งเป็นมูลค่าที่ต่ำที่สุดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
นายไมเคิล ไฮซ์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ กลุ่มอลิอันซ์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบมจ.อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต กล่าวว่า “นี่เป็นสถานการณ์ที่ขัดแย้งกัน ในด้านหนึ่ง ความเสี่ยงด้านต่างๆ กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ลองนึกถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประชากรศาสตร์ โลกไซเบอร์ หรือการเมือง แต่ในทางกลับกัน ผู้คนทั่วโลกซื้อประกันภัยในสัดส่วนที่น้อยลงเมื่อเทียบกับรายได้ของพวกเขา จึงควรจะมีความพยายามร่วมกันทั้งทางการเมืองและภาคอุตสาหกรรมในการปิด ‘ช่องว่างความคุ้มครอง’ นี้
ปี 2561 เป็นปีที่ไม่ปกติสำหรับธุรกิจประกันในทวีปเอเชีย กล่าวคือ เบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 2.3% (ไม่รวมญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นเพียงครั้งที่สองนับตั้งแต่ช่วงเปลี่ยนสหัสวรรษใหม่มานี้ที่เบี้ยประกันภัยเติบโตตามหลังการขยายตัวทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้น ญี่ปุ่น ซึ่งมีการขยายตัวอยู่ที่ 4% ยังขยายตัวเร็วกว่า ในปี 2561 ทั้งภูมิภาคมีอัตราการเติบโตคิดเป็นเพียง 16% ของการเติบโตทั่วโลก (หลังจากที่เพิ่มขึ้นถึง 81% ในปี 2560) ตัวขับเคลื่อนการเติบโตของเบี้ยประกันภัยทั่วโลกในปี 2561 คือ สองตลาดที่คุ้นเคยกันดี ซึ่งก็คือ ตลาดสหรัฐอเมริกา (42%) และญี่ปุ่น (11%)
เห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าตัวการหลักที่ทำให้ผลประกอบการของบริษัทประกันหดตัวในครั้งนี้ คือ ตลาดประกันชีวิตทั้งในจีนและเกาหลีซึ่งคิดเป็น 40% ของเบี้ยประกันภัยรวมของทั้งภูมิภาค (ยกเว้นญี่ปุ่น) นั้นได้หดตัวลงในปี 2561 สำหรับประเทศจีน สาเหตุหลักมาจากอุปสรรคด้านกฎหมายเกี่ยวกับตัวแทนประกันที่หันมาขายผลิตภัณฑ์การบริหารความมั่งคั่งทางการเงินมากขึ้น
นางสาวมิเคลา กริมม์ นักเศรษฐศาสตร์จากศูนย์วิจัยอลิอันซ์ กล่าวว่า “ปี 2561 ไม่ได้ถือว่าเป็นจุดจบของเรื่องราวการเติบโตของการประกันภัยในเอเชีย ในทางกลับกัน การที่ประเทศจีนมีการกำกับดูแลการขายประกันภัยที่เข้มงวดนั้น นับว่าเป็นสิ่งที่ดีและยอมรับได้ เนื่องจากเป็นการส่งสัญญาณที่ดีถึงพัฒนาการขั้นต่อไปที่สมดุลและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในตลาดที่รวดเร็วจนน่าใจหาย จีนซึ่งเป็นตัวเต็งที่เห็นได้ชัดในการประยุกต์ใช้ AI หรือประยุกต์ใช้โซลูชันการชำระเงินเชิงนวัตกรรม จีนจึงเป็นตลาดที่น่าจับตามอง และยังเป็นที่ที่ดีที่สุดในการเรียนรู้อนาคตของอุตสาหกรรมประกันภัยของเรา คำว่า ‘ขายในจีน’ จึงเป็นมาตรฐานกฎทองใหม่ในวงการประกันภัย”
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศูนย์วิจัยอลิอันซ์ คาดการณ์ว่าในปีนี้การฟื้นตัวของธุรกิจประกันภัยในเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) จะส่งผลให้ยอดการเติบโตของเบี้ยประกันภัยสูงถึงราว 11%
ในประเทศไทยเบี้ยประกันภัยเติบโตขึ้น 5.2% ในปี 2561 ซึ่งผันผวนไปตามพัฒนาการของหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบของการเติบโตมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย กล่าวคือ ในปี 2561 เบี้ยประกันวินาศภัยมีการเติบโตถึง 5.8% หลังจากซบเซามาสองปี ในทางตรงกันข้าม การเติบโตของเบี้ยประกันชีวิตชะลอตัวลงอยู่ที่ 5.0% ซึ่งเป็นการเติบโตระดับต่ำที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ
อย่างไรก็ตาม ตลาดประกันชีวิตยังคงเป็นตลาดที่โดดเด่น ซึ่งเหมือนกับในประเทศส่วนใหญ่ของเอเชีย คิดเป็น 70% ของเบี้ยประกันภัยรับรวม (ไม่รวมประกันสุขภาพ)
สำหรับปีนี้ จากผลวิจัยของกลุ่มอลิอันซ์ ประมาณการว่าจะมีการเติบโตของเบี้ยประกันภัยประมาณ 7% ทั้งในส่วนของประกันวินาศภัยและประกันชีวิต ตลาดประกันภัยของประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่มีการพัฒนามากที่สุดในภูมิภาค กล่าวคือ ค่าเบี้ยประกันภัยต่อหัวอยู่ที่ 292 ยูโร (ประมาณ 10,450 บาท) ในปี 2561 (เทียบเท่ากับจีน) โดยมีอัตราการเข้าถึงประกันอยู่ที่ 4.7% ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่สูงที่สุดสำหรับตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาค แซงหน้าจีนที่เติบโตเพียง 3.7%
ศูนย์วิจัยอลิอันซ์ คาดว่าตลาดประกันภัยจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องโดยคาดการณ์อัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยทั่วโลกจะสูงถึง 5% ในทศวรรษหน้า โดยคาดหวังว่าจะมีการเติบโตในเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) นั้นสูงกว่าภูมิภาคอื่นอย่างมาก และน่าจะขยายตัวได้สูงถึง 9.4% ต่อปีในทศวรรษหน้าส่วนการเติบโตของตลาดประกันภัยในประเทศไทยคาดว่าจะอยู่ที่ 7.5% (ประกันชีวิต 7.7% และประกันภัยวินาศภัย 7.1%) โดยรวมแล้ว ประมาณ 60% ของเบี้ยประกันภัยที่เพิ่มขึ้นจะมาจากภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)